posttoday

ต้านฝังกลบกองตะกอนหางแร่ตะกั่ว ต้องขนออกไปกำจัด

14 พฤศจิกายน 2562

กาญจนบุรี-คพ.เตรียมลุยเฟส2 แก้ปัญหากองตะกอนหางแร่ตะกั่ว หลังบริษัทเอกชนลักลอบทิ้งในพื้นที่ป่า บ้านคลิตี้บน "สุรพงษ์" ขอให้ขนไปกำจัดไม่ใช่ย้ายที่ฝังกลบ

กาญจนบุรี-คพ.เตรียมลุยเฟส2 แก้ปัญหากองตะกอนหางแร่ตะกั่ว หลังบริษัทเอกชนลักลอบทิ้งในพื้นที่ป่า บ้านคลิตี้บน "สุรพงษ์" ขอให้ขนไปกำจัดไม่ใช่ย้ายที่ฝังกลบ

กรณี นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ติดตามปัญหากองตะกอนแร่ ที่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ ลักลอบนำมาทิ้งไว้ในป่า พื้นที่บ้านคลิตี้ หมู่ที่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เมื่อครั้งที่บริษัทดำเนินกิจการเหมืองแร่ในอดีต และกรมควบคุมมลพิษ ได้ว่าจ้าง บริษัทเอกชน (บริษัทเบตเตอร์เวอร์กรีน จำกัด BWG) ซึ่งตามสัญญาจะสิ้นสุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่มีกองตะกอนแร่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ จากการตรวจวัดค่าโลหะหนัก (ตะกั่ว) พบว่า มีค่าโลหะหนักสูงถึง 70,000-100,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานสากลที่กำหนดค่าไว้ต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ต้านฝังกลบกองตะกอนหางแร่ตะกั่ว ต้องขนออกไปกำจัด

นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ร่วมกับชาวบ้าน ทำการตรวจสอบพื้นที่รอบๆ โรงแต่งแร่ และพื้นที่ใกล้เคียง ว่ายังมีการนำตะกอนหางแร่ไปทิ้งในที่ใดอีกหรือไม่ พร้อมทั้งให้ทำการคำนวณปริมาณตะกอนหางแร่ที่พบ เพื่อรายงาน นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ทราบต่อไป

ต้านฝังกลบกองตะกอนหางแร่ตะกั่ว ต้องขนออกไปกำจัด

"ก่อนหน้าที่จะลงมาดูปัญหาได้มีโอกาสพูดคุยกับทางสำนักงบประมาณ ซึ่งได้รับคำตอบว่าถ้าเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน นายกรัฐมนตรีพร้อมให้ความช่วยเหลืออยู่แล้วคาดว่าจะเริ่มลงมือในการแก้ไขด้วยการขนย้ายตะกอนหางแร่ไปทิ้งในบ่อบำบัด เพื่อทำการปรับค่าเสถียร ซึ่งจะเป็นโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เฟส2 ภายหลังจากเสร็จสิ้นในเฟสที่1 ในเดือนสิงหาคม 2563" นายประลอง กล่าว

ทั้งนี้ ตะกอนหางแร่ที่พบครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ คาดน่าจะมีน้ำหนักรวมกันหลายหมื่นตัน ซึ่งชาวบ้านวิตกว่า หากไม่มีการกำจัดออกจากพื้นที่ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนตะกอนหางแร่เหล่านี้ ก็จะถูกฝนชะล้างลงสู่ลำห้วยคลิตี้ จะส่งผลทำให้น้ำในลำห้วยปนเปื้อนสารตะกั่วเช่นเดิม

ต้านฝังกลบกองตะกอนหางแร่ตะกั่ว ต้องขนออกไปกำจัด

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่าแผนดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ดำเนินการมาอย่างล่าช้ามาก ซึ่งจะการดำเนินการที่ผ่านมาในช่วง 2-3 ปี พบว่า ไม่ได้เป็นการกำจัดมลพิษ เป็นเพียงแผนการย้ายมลพิษไปไว้ยังบริเวณเหนือลำห้วยคลิตี้ และปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษก็ยังไม่ได้ย้ายกองตะกอนแร่ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลมาก เพราะไม่ทำให้มลพิษหายไปได้ เนื่องจากไม่มีการกำจัด ซึ่งการกำจัดมลพิษคือการที่นำเอามลพิษในลำห้วยทั้งหมดไปสู่โรงงานกำจัดมลพิษที่อยู่ภายนอก โดยผ่านกระบวนการใช้ความร้อนเพื่อให้มลพิษหมดไป คือกำจัดและฝังกลบในพื้นที่โรงงาน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษเคยใช้วิธีนี้ในการกำจัดมาแล้ว ขณะที่ตนเป็นกรรมการอยู่ ซึ่งตนก็เห็นชอบด้วย และได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า แผนดำเนินการกำจัดมลพิษปัจจุบันจะไม่กำจัดมลพิษ แต่จะย้ายมลพิษไปฝังกลบยังพื้นที่เหนือลำห้วยคลิตี้ ซึ่งอยู่เหนือหมู่บ้านคลิตี้ล่าง โดยอ้างผลการศึกษาของนักวิชาการ แต่หากเกิดรั่วไหลมลพิษก็จะย้อนกลับมาสู่ชาวบ้านคลิตี้ล่างเหมือนเช่นเดิม

ต้านฝังกลบกองตะกอนหางแร่ตะกั่ว ต้องขนออกไปกำจัด

ทั้งนี้การดูดตะกอนแร่ออกไปกำจัด เอาออกไปเพียงเล็กน้อยมาก ซึ่งแท้ที่จริงควรเอาออกไปตลอดลำห้วย ซึ่งมีความยาวประมาณ 18 กิโลเมตร แต่กรมควบคุมมลพิษทำแผนเพียงให้เอาออกไปบางจุดเท่านั้น ทำให้หลงเหลือมลพิษอยู่ในลำห้วยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาเราได้ชี้ให้เห็นว่ายังมีแหล่งมลพิษอีกหลายแห่งที่ควรจะเอาไปกำจัดให้หมด อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณทางอธิบดีฯ ที่เริ่มจะมองเห็นแหล่งมลพิษอื่นๆ อีกที่แอบลักลอบทิ้งกัน ซึ่งเราหวังว่ากรมควบคุมมลพิษจะมาทบทวนแผนนี้ใหม่ และดำเนินการกำจัดมลพิษตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง โดยให้นำเอามลพิษออกไปทั้งหมด ไม่ใช่เพียงย้ายที่ฝังกลบมลพิษและเอาออกไปเพียงบางส่วนแบบปัจจุบันนี้

ต้านฝังกลบกองตะกอนหางแร่ตะกั่ว ต้องขนออกไปกำจัด

จากผลการตรวจค่าโลหะหนัก ที่พบว่ายังเกินค่ามาตรฐานอยู่มาก เป็นเพราะยังไม่ได้กำจัดมลพิษออกจากลำห้วยคลิตี้ ยังไม่มีมาตรการฟื้นฟู ซึ่งเป้าหมายการกำจัดมลพิษของศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งให้กรมควบคุมมลพิษทำคือ ทำให้ลำห้วยคลิตี้ปราศจากมลพิษ ให้ชาวบ้านจับปลาในลำห้วยกินได้ โดยไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถดำเนินการจนใกล้เคียงกับความปลอดภัยเลย ยังมีความเป็นมลพิษอยู่ไม่ต่างจากสมัยก่อน ชาวบ้านคลิตี้ล่างก็ยังต้องรับมลพิษอยู่ต่อมาจนปัจจุบัน แม้จะชนะในศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดแล้วก็ตาม