posttoday

“ไสลเกษ” เปิดนโนบายบริหารศาล ล้างปมวิกฤตบ้านพักตุลาการ

07 พฤศจิกายน 2562

“ไสลเกษ” ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 แถลงนโยบายบริหารศาล ยกระดับประกันตัวคุ้มครองสิทธิพื้นฐาน หนุนสิ่งแวดล้อม ล้างปมวิกฤติบ้านพักตุลาการ

“ไสลเกษ” ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 แถลงนโยบายบริหารศาล ยกระดับประกันตัวคุ้มครองสิทธิพื้นฐาน หนุนสิ่งแวดล้อม ล้างปมวิกฤติบ้านพักตุลาการ

ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ ราชดำริ เวลา 09.30 น. “นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์” ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารศาลยุติธรรม พร้อมแถลงนโยบายการบริหารศาลยุติธรรมของประธานศาลฎีกา ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ต.ค.62

โดยนโยบายบริหารศาลยุติธรรมของประธานศาลฎีกาทั้งสิ้น 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา/จำเลย โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม ซึ่งจะกำหนดมาตรการในการขอปล่อยชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพความสะดวกรวดเร็วและการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว ซึ่งจะกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ต้องหา/จำเลย/เหยื่ออาชญากรรม/ผู้เสียหาย ตลอดจนกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมทุกขั้นตอนของกระบวนการทางศาล พร้อมทั้งเพิ่มบทบาทเชิงรุกในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีในศาล และให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิทธิของตนตามกฎหมาย

2.ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ โดยพัฒนาระบบการประชุมปรึกษาคดีขององค์คณะให้เข้มแข็งในทุกชั้นศาลเพื่อยกระดับคุณภาพของคำพิพากษาบนพื้นฐานความเป็นอิสระโดยปราศจากการแทรกแซง และกำหนดกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งจะให้การจัดพิมพ์คำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อให้ความยุติธรรมได้ปรากฏในเวลาอันควร นอกจากนี้จะสร้างแบบประเมินที่เป็นมาตรฐานสากลให้ศาลใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในพันธกิจของศาลและการสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพด้วย

3.นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมการพิจารณาพิพากษาคดี และการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวกและประหยัดสำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการปฏิบัติงานของศาลเพื่อให้คู่ความเข้าถึงข้อมูลทางคดีได้โดยสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันจะนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการให้บริการแก่ประชาชนเพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และนำมาใช้ในการเสริมสร้างความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการรับฟังปัญหาข้อขัดข้องและความคิดเห็นของประชาชนตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม

4.เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานบุคคลด้วยการสร้างสมดุล ระหว่างจริยธรรมระบบอาวุโสและความรู้ความสามารถ โดยจะส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ความชำนาญตลอดจนแนวปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของสังคมพร้อมกับจัดกรอบอัตรากำลังให้เหมาะสมกับลักษณะงานประเภทและปริมาณคดีโดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม และสร้างเสริมจริยธรรมความภาคภูมิใจและความสุขของบุคลากรในการให้บริการแก่ประชาชนด้วยอัธยาศัยไมตรี

5.การสนับสนุนบทบาทของศาลในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อมและที่ไม่ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม โดยจะสนับสนุนบทบาทของศาลในการส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม , สนับสนุนบทบาทของศาลในการประเมินและยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม , สนับสนุนบทบาทของศาลในการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกบนพื้นฐานความสมัครใจของคู่ความ

สำหรับมาตรการปล่อยชั่วคราวจะให้คณะทำงาน ทำรายละเอียดเป็นข้อเสนอแนะว่า หากให้มีการปล่อยชั่วคราวมากขึ้นจะมีมาตรการทางเลือกอะไรบ้างที่จะใช้เพื่อยกระดับความมั่นใจว่าเราจะได้ตัวผู้ที่ได้ปล่อยชั่วคราวมาพิจารณาคดี หลังจากที่ปัจจุบันคดีทุจริตทั้งหลาย (ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ) ทั้งหลายในกฎหมายใหม่อายุความจะสะดุดลงหากเขาหลบหนีต้องหลบหนีตลอดชีวิต

“หลังจากนี้ เราจะนำมาถอดเป็นแผนปฏิบัติการ โดยมีหลายเรื่องที่สามารถทำได้เลย เรื่องการประกันตัวใกล้เคลียร์จะทำได้แล้ว เรามีการปฏิบัติมาอยู่แล้ว แต่ทีนี้เราคิดว่าจะมีทางทำอย่างไรให้ผู้พิพากษามีความมั่นใจในการให้ประกันว่าไม่ได้ปล่อยคนร้าย”

กับอีกเรื่องหนึ่งการกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับผู้ต้องหา/จำเลย/เหยื่ออาชญากรรม/ผู้เสียหายที่เปราะบางในสังคม ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เราว่า เราควบคุมผู้ต้องหา/จำเลยคดีต่างๆ โดยไม่แยกแยะประเภทคดี ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องจำแนกประเภทของคดี คดีที่มีโทษหนักอุกฉกรรจ์ กับคดีที่โทษเบาเล็กน้อย ซึ่งในวันที่ศาลต้องเบิกตัวมาในนัดคดีไม่ควรที่จะเอารวมไปในห้องคุมขังเดียวกัน ดังนั้นหากเราแยกประเภทได้ จัดกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่สุด กับกลุ่มโทษเบาเสี่ยงน้อยที่สุดแล้วเราจะปฏิบัติต่อเขาได้อย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมาการออกแบบอาคารสถานที่ของศาลไม่ได้คิดถึงจุดนี้ที่ผ่านมาจึงต้องนำไปขังรวมกันเวลาที่รอขึ้นศาล ซึ่งหากศาลทั่วประเทศทำได้ในการแยกประเภทผู้ต้องขัง ก็จะตรงกับงานที่พระองค์ภาฯ ได้ปักธงในการดูแลผู้ต้องขังที่เป็นหญิงจนสหประชาชาติยอมรับ ซึ่งแนวปฏิบัติเช่นนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือกันทำทั่วกันทั้งประเทศ โดยตนได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมดูแลเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน รวมทั้งให้ดูแลการออกแบบอาคารศาลต่างๆ ในอนาคตที่ต้องคำนึงถึงห้องที่จะต้องจัดแยกผู้ต้องขัง แยกพยาน ลักษณะแยกเพศ แยกวัย รวมถึงกลุ่มผู้พิการที่มีโอกาสมาขึ้นศาลเช่นกัน

“ไสลเกษ” เปิดนโนบายบริหารศาล ล้างปมวิกฤตบ้านพักตุลาการ

นอกจากนี้เรื่องประกันตัวสมควรที่จะต้องประกาศมูลค่าทรัพย์ในการวางประกันตัวประเภทคดีต่างๆ ทั้งบนบอร์ดที่ศาล และลงเว็บไซต์ศาล ให้ชาวบ้านได้รับรู้กรณีหากต้องมาขึ้นศาลด้วยเพื่อให้เขารู้ว่าจะต้องเตรียมหลักทรัพย์เท่าใด เป็นลักษณะให้ข้อมูลเชิงรุก ซึ่งจริงๆ หลายศาลก็ทำแล้วก็ควรทำให้ได้ทั่วไป แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะกำหนดหลักทรัพย์เป็นอัตรากลางเหมือนที่มีคนเสนอมา เนื่องจากในความผิดแต่ละประเภทยังมีความแตกต่างกันและอีกเรื่องที่อยากเชิญชวนศาลทั่วประเทศให้ทำต่อไป คือการทำแบบประเมินความเสี่ยงการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลย ที่จะเป็นการลดภาระให้ประชาชน โดยการที่พิจารณาปล่อยชั่วคราวนั้นยังไม่ต้องพิจารณาถึงหลักทรัพย์ โดยครั้งแรกการใช้แบบประเมินความเสี่ยงยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเพราะเราไม่ค่อยได้ใช้ บอกต้องใช้เวลาเยอะ แต่จากการทำแบบวิจัยนี้ระบุว่าหากได้ฝึกทำแบบประเมิน ก็จะใช้เวลาเพียง 15 นาทีดำเนินการเสร็จโดยประชาชนจะได้ประโยชน์สูงมาก ซึ่งจะรู้ว่าบุคคลที่เป็นผู้ต้องหา/จำเลยนั้นมีความเสี่ยงหรือไม่ หากไม่มีความเสี่ยงเลยก็สามารถลอยตัวได้โดยไม่ต้องทำสัญญาประกันเพียงแต่แค่ปฏิญาณตนว่าจะมาศาลตามนัดก็ทำได้ โดยระดับความเสี่ยงจะเป็นตัวกำหนดว่าจะให้ประกันหรือไม่ และจะต้องกำหนดเงื่อนไขอย่างไรอีกหรือไม่ ดังนั้นอยากจะเชิญชวนให้ศาลทั่วประเทศมาใช้แบบประเมินความเสี่ยง ประกอบการพิจารณาเพื่อปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลย ซึ่งการจะให้หรือไม่ให้ประกันเราก็มีเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ที่เกิดมาจากการวิจัยแสดงให้เห็นได้อยู่แล้วจากแบบประเมิน โดยที่ผ่านมาแม้ในการทดลองใช้ 13 ศาลจะมีผู้ที่หนีบ้างแต่ก็จำนวนน้อยประมาณ 200 กว่ารายซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ และในด้านการประชาสัมพันธ์ อยากจะให้ศาลทุกที่ความสำคัญกับสาวเสื้อฟ้าด้วย (เจ้าหน้าที่สวมเสื้อสูทฟ้า ประจำศาลจุดประชาสัมพันธ์ ในความรู้ขั้นตอนการขึ้นศาล คำแนะนำกับผู้ที่มาศาล) ในการข้อมูลกับประชาชนที่มาติดต่อเพื่อให้เกิดความสบายใจได้รับข้อมูลได้มากที่สุด

สำหรับเรื่องการบริหารงานบุคคลนั้นจะต้องสร้างสมดุลระหว่างระบบอาวุโส จริยธรรมและความรู้ความสามารถ และให้การทำงานเป็นไปด้วยความมีสติและสันติวิธี ต่อไปนี้ทุก 5 ปี เราจะต้องมีการตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งขณะนี้ก็มีการยกร่างระเบียบเกี่ยวกับการสำรวจตัวเองถึงสภาวะจิตใจโดยอย่ารู้สึกไม่ดีกับการจะต้องทำแบบประเมิน เราสะสมความเครียดต่างๆไว้มากถึงเวลาที่เราจะต้องสำรวจและปลดปล่อยความเครียดเหล่านี้ทุก 5 ปี

ทั้งนี้ “นายไสลเกษ” ยังกล่าวถึงประเด็นสำคัญการสนับสนุนบทบาทของศาลในการส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยว่า ปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่อยู่ใต้จิตสำนึกของคน เราเผชิญกับวิกฤตภัยธรรมชาติมากมาย และเราเคยเจอวิกฤติด้วยองค์กรเราเอง ที่ จ.เชียงใหม่ (กรณีการสร้างบ้านพักตุลาการ) จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย ดังนั้นภายใต้นโยบายของตนจะผลักดันให้ศาลเป็นสีเขียว GREEN COURT ด้วยหลักการถ้าไม่ปลูกแล้วอย่าตัดสำคัญมาก ถ้าปลูกยิ่งดี โดยกรีนคอร์ทคือมีความบริสุทธิ์ สะอาด หมายความว่าซื่อสัตย์สุจริตด้วย

ต่อไปก็จะขอให้สำนักงานศาลยุติธรรม ประกาศให้ประเทศไทยรู้ว่าต่อไปนี้ในการก่อสร้างทุกโครงการของศาลยุติธรรมจะกำหนด TOR ว่าจะต้องคำนึงดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย และจะถือได้ว่าเป็นที่แรกที่มีการระบุ TOR สิ่งแวดล้อมในสัญญาการก่อสร้าง ซึ่งที่อื่นยังไม่มี และเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมนี้ศาลได้รับที่ดินเนื้อที่ 250 ไร่ บริเวณอ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ให้มาใช้ ซึ่งเราก็จะสร้างสถาบันฝึกอบรมเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง จากที่ขณะนี้มีอยู่แล้วที่เดียวบริเวณรัชดาภิเษก รวมทั้งสร้างศาลเพิ่มในที่ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างแล้ว 70 ล้านบาท โดยเรายังจะใช้พื้นที่นี้เป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมด้วย ในการปลูกป่า ซึ่งตนสนับสนุนว่าหากศาลใดมีโครงการไม่ว่าจะจิตอาสาหรือโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เอาสีเขียวมาลงที่นี่โดยอยู่ในวิสัยที่เราจะรักษาได้ ซึ่งตนเชื่อว่าไม่เกิน 10 ปีตรงนี้จะเป็นป่าอีกแห่งหนึ่งที่ปากช่องด้วยฝีมือของเรา