posttoday

เจ้าของเรือ-นักท่องเที่ยวสุดดีใจ พบลูกฉลามวาฬทะเลบ้านกรูด

06 ตุลาคม 2562

เจ้าของเรือนำเที่ยวพร้อมนักท่องเที่ยวสุดดีใจพบลูกฉลามวาฬว่ายเข้ามาวนเวียนรอบเรือที่ทะเลบ้านกรูด

เจ้าของเรือนำเที่ยวพร้อมนักท่องเที่ยวสุดดีใจพบลูกฉลามวาฬว่ายเข้ามาวนเวียนรอบเรือที่ทะเลบ้านกรูด

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.62 นายนาวี จิตรวัตร เจ้าของเรือโชคนาวีสมุทร อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา ได้พานักท่องเที่ยวที่เป็นนักตกปลา ชาว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจองเรือไว้ จำนวน 4 คน ลงเรือออกทะเล เพื่อจะออกไปตกปลาที่แนวปะการังเทียมบริเวณชายฝั่งบ้านกรูด-บ้านดอนสำราญ ห่างฝั่งไม่เกิน 300-400 เมตร น้ำลึกแค่ไม่กี่เมตร

ปรากฎได้พบกับลูกฉลามวาฬ ความยาวประมาณ 2-3 เมตร น้ำหนักราว 300 กิโลกรัม ว่ายเข้ามาที่เรือประมงสร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยเห็นฉลามวาฬใกล้ชิดขนาดนี้โดยต่างถ่ายภาพและคลิปวีดีโอของลูกฉลามวาฬเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วยดีใจ

"ขนาดผมเห็นฉลามวาฬบ่อยครั้งในทะเลบางสะพาน ผมยังรู้สึกดีใจที่ได้เจอ โดยพบว่าพฤติกรรมของลูกฉลามวาฬตัวนี้ จะอ้าปากกินแพลงก์ตอน ลูกหมึกและลูกปลาขนาดเล็กที่ขึ้นมาเล่นไฟใกล้กับเรือ โดยลูกฉลามวาฬว่ายวนเวียนอยู่ราว 1 ชั่วโมงก่อนจะว่ายจากไป

นายนาวี กล่าวอีกว่า ในปีนี้ได้เจอกับฉลามวาฬ ประมาณ 10 ครั้ง มั่นใจว่าน่าจะมีฉลามวาฬ หากินอยู่ในบริเวณนี้ไม่น้อยกว่า 6 ตัว โดยจำแนกจากขนาดตัวที่ต่างกัน ตนเจอฉลามวาฬตั้งแต่ทะเลบ้านกรูด ถึง บ่อทองหลาง ในปีนี้เจอบ่อยมาก ทั้งนี้เคยเจอตัวใหญ่ ความยาวไม่น้อยกว่า 6เมตร เจอพร้อมกันเป็นคู่ อยู่ห่างจากฝั่งราว 3 ไมล์ทะเล ระดับน้ำลึกประมาณ 18-20 เมตร และเคยเจอตัวเล็ก เป็นลูกฉลามวาฬ

ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ในช่วงนี้มีรายงานการพบฉลามวาฬ หากินในทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ บ่อยครั้งมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก

ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ทช. ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจุดที่พบการหากินของฉลามวาฬ แต่ละจุดของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลทางวิชาการสำหรับใช้เพื่อวางแผนการอนุรักษ์ อย่างยั่งยืนแล้ว

"นักท่องเที่ยวหรือชาวประมง ที่พบเจอฉลามวาฬหากิน ไม่ควรว่ายน้ำตามไปจับตัวเพื่อถ่ายภาพ หรือขับเรือไล่ตามเพื่อถ่ายภาพ เพราะถือเป็นการรบกวนการหากินของฉลามวาฬ อาจก่อให้เกิดอันตรายกับฉลามวาฬได้ เนื่องจากพฤติกรรมการว่ายขึ้นมาผิวน้ำและว่ายน้ำช้าๆคือการเคลื่อนที่เพื่อหากินลูกปลาและแพลงก์ตอนตามธรรมชาติ"นายโสภณ กล่าว