posttoday

เกษตรสั่งเร่งหาแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาช่วยประชาชนภาคอีสาน

31 กรกฎาคม 2562

รมว.เกษตรฯลงพื้นที่ดูภัยแล้งภาคอีสาน สั่งทุกหน่วยงานบูรณาการเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน พร้อมเร่งหาแหล่งน้ำดิบมาผลิตน้ำประปา

รมว.เกษตรฯลงพื้นที่ดูภัยแล้งภาคอีสาน สั่งทุกหน่วยงานบูรณาการเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน พร้อมเร่งหาแหล่งน้ำดิบมาผลิตน้ำประปา

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ ไปติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ยังอ่างเก็บน้ำลำพอก อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ พร้อมปล่อยขบวนคราวานรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร 17 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตร อีก 3 คัน รถขุดจำนวน 1 คัน เครื่องสูบน้ำอีก 13 เครื่องเพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ โดยมี นายประภัสสร์ ลากาญจน์ ผวจ.สุรินทร์ นำหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ

เกษตรสั่งเร่งหาแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาช่วยประชาชนภาคอีสาน

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าวบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน โดยเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ การจัดหาแหล่งน้ำเสริมให้แก่อ่างเก็บน้ำหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีน้ำไหลลงอ่างน้อย เนื่องจากฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 29%

ทั้งนี้ แผนเพาะปลูกข้าวฤดูฝนกำหนดไว้? 3.41 ล้าน?ไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 3.14 ล้านไร่ คิดเป็น 92% ซึ่งการบริหารจัดการตามแผนที่วางไว้คือ การปลูกพืชให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมเพื่อให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยพื้นที่เฝ้าระวังภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม และ สุรินทร์

ด้านทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบัน?( 30 ก.ค.62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 2,565 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 218 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 549 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 246 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 44 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 1,394 ล้าน ลบ.ม

ขณะที่ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้บินปฏิบัติการทำฝนให้ตกลงสู่อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้ว 19 อ่าง แต่จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้วันที่ 1 – 2 ส.ค.นี้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง และเป็นโอกาสดีให้การบินปฏิบัติการทำให้ฝนตกลงในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือได้ผลดีขึ้นตามไปด้วย สำหรับในจ.สุรินทร์จะทำฝนเพื่อเติมน้ำในอ่างห้วยเสนองและอ่างอำปึลเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค