posttoday

เผยสถิติพบโรคเนื้อเน่าเพิ่มยอดตายพุ่งชาวนากลุ่มเสี่ยง

25 กรกฎาคม 2562

น่าน – สสจ.เผยตัวเลข “โรคเนื้อเน่า” ยอดเสียชีวิตแล้ว 5 ราย ย้ำไม่ใช่โรคใหม่ไม่ติดต่อ พบมากในช่วงฤดูทำนา เป็นภัยเงียบคร่าชีวิตที่ป้องกันได้

น่าน – สสจ.เผยตัวเลข “โรคเนื้อเน่า” ยอดเสียชีวิตแล้ว 5 ราย ย้ำไม่ใช่โรคใหม่ไม่ติดต่อ พบมากในช่วงฤดูทำนา เป็นภัยเงียบคร่าชีวิตที่ป้องกันได้

นพ.นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน พร้อมด้วย นายอำนวย ทิพศรีราช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดน่าน ร่วมกันสอบสวนการระบาดของโรคผังผืดอักเสบมีเนื้อตาย หรือ โรคเนื้อเน่า ที่ระบาดในพื้นที่จังหวัดน่าน ตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย. – ก.ค. 2562

เผยสถิติพบโรคเนื้อเน่าเพิ่มยอดตายพุ่งชาวนากลุ่มเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่โรงพยาบาลน่าน มีผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษายอดรวม 51 ราย และเสียชีวิตแล้ว 5 ราย และยังมีอาการหนักรักษาตัวในห้องฉุกเฉินไอซียู 2 ราย โดยพบผู้ป่วยกระจายในทุกอำเภอ พบมากที่สุดคือพื้นที่ อ.เมือง อ.เวียงสา อ.ภูเพียง และ อ.ท่าวังผา ตามลำดับ จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและชาวนา ที่ต้องทำงานในแปลงนาข้าว นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วย 3 ราย ที่ได้รับเชื้อจากการลงในงมหอย หาปลาในแม่น้ำน่านด้วย

นพ.นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคผังผืดอักเสบมีเนื้อตาย หรือ โรคเนื้อเน่า ในห้วงเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 พบมีผู้ป่วย 227 ราย เฉลี่ยปีละประมาณ 45 ราย เพศชาย 146 ราย และเพศหญิง 83 ราย อายุเฉลี่ยประมาณ 59-60 ปี และมักพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.– ก.ค.ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลทำนา

"ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงต้นฤดูทำนา แต่ค่าเฉลี่ยกลับพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากกว่าทุกปี โดยกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ร่างกายอ่อนเพลีย ดื่มสุรา มีประวัติการใช้ยาสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน รวมถึงชาวนา เกษตรกร หรือประชาชนที่ต้องทำงานสัมผัสกับดินโคลนเลนโดยตรงเป็นเวลานาน เมื่อเกิดบาดแผลทางผิวหนัง ทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย"นายนิพนธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เร่งประชุมให้ทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ทุกพื้นที่ เตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการล้างบาดแผล และ ให้ความรู้ ความเข้าใจ และเตือนเกษตรกร ได้สังเกตอาการของโรค หากมีบาดแผล และมีอาการปวด บวมแดง อักเสบ ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นไข้สูง ขอให้รีบไปยัง รพ.สต.ใกล้บ้าน เพื่อล้างและทำความสะอาดแผล และเข้าสู่ระบบการรักษาตั้งแต่ต้น ส่วนเกษตรกรและชาวนา ที่ต้องลงแปลงนาสัมผัสกับดินโคลนโดยตรง ขอให้ใส่ชุดป้องกัน และหากมีบาดแผลทางผิวหนังให้รีบล้างน้ำสะอาดและทำแผลทันที