posttoday

สถานการณ์โรคแบคทีเรียกินเนื้อคนคร่าชีวิตผู้ป่วยตาย1

24 กรกฎาคม 2562

น่าน-แบคทีเรียกินเนื้อคนคร่าชีวิตผู้ป่วยตาย1 นอนไอซียู2 ป่วย26ราย หมอแนะชาวนาเกษตรกรลุยโคลนล้างน้ำสะอาด

น่าน-แบคทีเรียกินเนื้อคนคร่าชีวิตผู้ป่วยตาย1 นอนไอซียู2 ป่วย26ราย หมอแนะชาวนาเกษตรกรลุยโคลนล้างน้ำสะอาด

ความคืบหน้ากรณีการระบาดของ โรคเนื้อเน่าหนังเน่าจากเชื้อแบคทีเรีย ที่จังหวัดน่าน หลังมีผู้ป่วยจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามารักษาที่ รพ.น่าน ด้วยอาการเป็นไข้ เท้าบวมแดง มีแผลตุ่มพุพอง ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง จำนวน 25 ราย และมีอาการรุนแรง มีอาการติดเชื้อ เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินไอซียู 1 ราย ล่าสุดมีผู้ป่วยเข้ามารักษาเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นยอดผู้ป่วยทั้งหมด 26 ราย มีอาการหนักที่ต้องเข้าห้องไอซียู 3 ราย และในจำนวนนี้ ได้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เปิดเผยสถานการณ์โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อหนังเน่าว่า ล่าสุดมียอดผู้ป่วยจำนวน 26 ราย อาการทรุดต้องเข้าห้องไอซียู 3 ราย ซึ่งผู้ป่วยในห้องไอซียูเสียชีวิตแล้ว 1 ราย

จากการซักประวัติผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวนาและเกษตรกรที่ต้องทำงานและสัมผัสกับดินโคลนเป็นเวลานาน เมื่อเกิดบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนังจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งในรายที่รุนแรงเชื้อแบคทีเรียจะลงลึกกินทั้งชั้นผิวหนังทำให้ มีภาวะเนื้อตายและอาจจะมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด จนเสียชีวิตได้ โดย โรคเนื้อเน่าส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคทั้งชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจน เช่น คลอสติเดียม และเชื้อชนิดใช้ออกซิเจนเช่น สแตปฟิโลคอคคัส สเตรปโตคอคคัส ชนิดที่สามารถสร้างสารพิษได้ โดยอาการจะมีผิวหนังบวมแดงร้อน ถ้าเชื้อลงลึกกินทั้งชั้นผิวหนังจะพบตุ่มพุพอง และค่อยๆเปลี่ยนสีเป็นสีม่วง และถ้าเนื้อตายจะกลายเป็นสีดำ บางรายอาจจะต้องตัดขา หรืออาจจะมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ไข้สูง และทำให้เสียชีวิต

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายคือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำได้แก่ ประวัติดื่มสุราประจำ เป็นโรคตับแข็ง โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการรับประทานยา สเตียรอยด์ ส่วนใหญ่โรคนี้จะระบาดในฤดูฝนในช่วงที่เกษตรกรลงดำนา ลุยโคลน จึงขอเตือนให้ผู้ที่ทำนาถ้ามีแผลตามร่างกาย ขอให้รีบขึ้นจากโคลนรีบล้างแผลโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่าน ซับด้วยผ้าสะอาด และปิดแผล ถ้ามียาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีนสามารถใช้ทาแผลได้ แล้วรีบมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้ตรวจรักษาต่อไป สำหรับการรักษาแพทย์จำเป็นต้องตัดเนื้อตายออกให้หมด และให้ยาปฎิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งถ้าเชื้อยังไม่ลุกลามเข้ากระแสเลือด ผลลัพธ์ของการรักษาจะค่อนข้างดี

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้ลงนา หรือไม่มีบาดแผลก็อาจจะติดเชื้อดังกล่าวได้ โดยการเกา หรือมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย เชื้อสเตรปโตคอคคัส หรือสแตปฟิโลคอคคัสที่อยู่บริเวณผิวหนังอาจจะเข้าไปในแผลแล้วเกิดการติดเชื้อ ถ้าผู้ใดมีผิวหนังบวมแดงอย่างรวดเร็ว แล้วมีตุ่มพุพองที่ผิวหนัง ขอให้รีบมาตรวจรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้