posttoday

นักวิจัยชี้ทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนในโคราชทำเป็นขบวนการ

22 กรกฎาคม 2562

นักวิจัยระบุทุจริตสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในโคราชทำเป็นขบวนการตั้งแต่กำหนดทีโออาร์ยันบริษัทเข้าร่วมประมูล พบวัสดุที่ใช้คุณภาพต่ำ-ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน

นักวิจัยระบุทุจริตสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในโคราชทำเป็นขบวนการตั้งแต่กำหนดทีโออาร์ยันบริษัทเข้าร่วมประมูล พบวัสดุที่ใช้คุณภาพต่ำ-ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 62 ดร.ปรีชา อุยตระกูล หัวหน้าโครงการวิจัย ประชาสังคมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบและกลไกในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีศึกษาจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีเรื่องการทุจริตสนามฟุตซอล ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.นครราชสีมานั้น ตนและทีมวิจัย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งขณะนั้นทีมวิจัยได้พิจารณาเรื่องที่จะวิจัยจากเรื่องร้องเรียนที่มีความหนาแน่นมาก โดยพบว่าอันดับ 1 เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ คือ เทศบาล และ อบต. ส่วนอันดับที่ 2 คือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเห็นว่ามีผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก

สำหรับเรื่องทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลนั้น เป็นหนึ่งในนับสิบเรื่องที่นำมาวิจัย โดยพบว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ที่มี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยคนหนึ่ง แปรญัตติในรัฐสภา เพื่อที่จะนำงบประมาณมาสร้างสนามฟุตซอลพร้อมอุปกรณ์ ซึ่งงบประมาณแบ่งเป็น 2 ขนาด คือ ให้งบประมาณ 2,500,000 บาท สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก และงบประมาณจำนวน 5,000,000 บาท สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ มาให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษราขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสรรลงไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ใน จ.นครราชสีมา จำนวน 49 โรงเรียน และจัดสรรให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต31 จำนวน 7 โรงเรียน รวม 56 โรงเรียน ได้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท โดยโรงเรียนที่ได้รับจะมีการเปิดประมูลอีอ๊อกชั่น (E-AUCTION) ตามระเบียบ

แต่ที่น่าผิดสังเกตคือ บริษัทที่ลงแข่งประมูลมีเพียงแค่ 3 บริษัท และบริษัทที่ประมูลเหล่านั้นก็ประมูลเกินกันเพียง 1,000-2,000 บาทเท่านั้น ซึ่งต่อมาจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่มีความเชื่อมโยงทางธุรกิจเป็นเครือญาติกันทั้งนั้น อีกทั้งยังเป็นคนใกล้ชิดกับนักการเมืองในพื้นที่ จ.นครราชสีมาด้วย

นอกจากนี้โรงเรียนที่ได้รับงบประมาณไม่สามารถกำหนด TOR ได้เองด้วย อีกทั้งจากการตรวจสอบยังพบว่า วัสดุที่ใช้มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ใช้งานไม่นานก็พังเกือบทั้งหมด

ดร.ปรีชา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลเบื้องต้น และข้อมูลเชิงลึกอีกหลายอย่าง ทำให้เห็นว่าการทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลครั้งนี้ มีการทำกันเป็นขบวนการ ตั้งแต่ระดับกระทรวง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ส่วนระดับผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะกรรมการเซ็นต์ตรวจรับนั้น อาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องนี้นัก เพราะหลายคนได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ให้มาทำหน้าที่นี้ ส่วนนักการเมืองระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นั้น ก็ตรงกับที่ ป.ป.ช.ชี้มูลนั่นเอง ซึ่งเป็นนักการเมืองใหญ่ที่เคยอยู่พรรคเพื่อไทย และขณะนี้ย้ายมาอยู่ในพรรครัฐบาล

"ประชาชนต้องจับตาดูว่า คดีนี้จะเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ เพราะข้อมูลหลักฐานที่ ป.ป.ช.ได้ไปก็ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องพิสูจน์ผลงานให้ประชาชนเชื่อมั่น และประชาชนต้องอย่ารอพึ่งแต่เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จะมาปราบการทุจริตคอรัปชั่นเท่านั้น เพราะหน่วยงานที่ตรวจสอบมีคนทำงานน้อย ขณะที่ปริมาณงานทุจริตมีมาก ดังนั้นประชาชนทุกคนต้องใช้สิทธิหน้าที่การเป็นพลเมืองที่ดี ด้วยการเป็นหูเป็นตาช่วยกันตรวจสอบด้วย เพราะทุกวันนี้โซเชียลทำให้ประชาชนมีพลังในการตรวจสอบได้ง่ายมาก ขณะเดียวกันตนก็เชื่อว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลพยายามเอาจริงกับเรื่องปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด แต่ถ้าไม่มีประชาชนคอยสนับสนุนอย่างจริงจังก็ทำได้ยาก"ดร.ปรีชา กล่าว