posttoday

สมิหลาร่ำไห้ ฝันร้าย “หาดใหญ่” รอบ 2

07 พฤศจิกายน 2553

โคลนแดงทิ้งคราบไว้เกลื่อนเมือง เป็นร่องรอยให้เล่าเรื่องหลังจากที่ธรรมชาติลงโทษชาวหาดใหญ่ เศษซากโซฟา โต๊ะ ประตู เก้าอี้ ฟูกที่นอน ขยะ และคนร้องไห้ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่...

โคลนแดงทิ้งคราบไว้เกลื่อนเมือง เป็นร่องรอยให้เล่าเรื่องหลังจากที่ธรรมชาติลงโทษชาวหาดใหญ่ เศษซากโซฟา โต๊ะ ประตู เก้าอี้ ฟูกที่นอน ขยะ และคนร้องไห้ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่...

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

เสียใจ...น้ำตาตกใน

คืนวันที่ 1 พ.ย. ช่วงเย็น ถ.แสงจันทร์ ในตัวเมืองหาดใหญ่น้ำเริ่มท่วมถนนระดับเข่า หรือประมาณ 30 ซม. แต่ขณะนั้นยังเป็นน้ำใส ฝนหยุดน้ำกำลังลด แม้จะมีข่าวว่ามรสุมจะเข้าเวลา 21.00 น.ทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติ

น้ำลดระดับลงเรื่อยๆ ครอบครัวของ “ป้าริน” ชรินดา ปิยะภูมิ เจ้าของร้านไทยยงพาณิชย์ ซึ่งจำหน่ายวัตถุดิบทำเบเกอรี่ แป้ง เนย มีสินค้าที่เพิ่งสั่งลงมาเต็มโกดังหลังบ้าน ตรวจสอบระดับน้ำกับคนรู้จักทั้งในและต่างอำเภอเป็นระยะ

สมิหลาร่ำไห้ ฝันร้าย “หาดใหญ่” รอบ 2

ป้าริน ขีดเส้นไว้ที่ผนังบ้านเมื่อครั้งน้ำท่วม 21 พ.ย. 43 ระดับน้ำที่บ้านเธออยู่ที่ 2.25 เมตร เป็นสิ่งเตือนใจไม่ให้ประมาท แต่ล่าสุด 2 พ.ย. 53 ระดับน้ำขึ้นแตะที่ 2.25 เมตร เช่นกัน

“เราเอากระสอบทรายมากั้นไว้ 3 ฟุต เห็นระดับน้ำช่วงหัวค่ำแล้วก็ไม่คิดว่าจะมาขนาดนี้ 2 ทุ่มยังมีลม และน้ำก็เริ่มลดเลยขึ้นไปนอน จนกระทั่งตี 1 ลูกชายตื่นมาเพราะแอร์ดับ ลงมาเห็นน้ำเข้าท่วมบ้าน เป็นน้ำป่ามีแต่โคลน ก็รีบลงมาดึงปลั๊กตู้เย็นออก ตู้เย็นก็ล้มทันที น้ำเชี่ยวมาก รีบเก็บของกินขึ้นไปไว้ชั้นบนได้อย่างเดียว สักพักไฟก็ดับ ฉันก็ยังมานอนอยู่ตรงชั้นลอยดูระดับน้ำ แต่พอตี 3 ตี 4 ก็ต้องขึ้นไปนอนชั้นสองเพราะน้ำมาเร็วมาก”

“เราเคยเจ็บมาแล้วครั้งหนึ่ง เสียใจที่เป็นอย่างนี้ที่ยังมาเป็นซ้ำอีกทำไมต้องซ้ำประวัติศาสตร์ เสียใจมาก ทำไมปล่อยให้เราเป็นอย่างนี้อีก มันทำให้เราสุขภาพจิตเสีย”

ป้ารินน้ำตาซึม ญาติพี่น้องที่มาช่วยทำความสะอาดได้แต่มองหน้าเธอ ส่วนลูกสาวและสามีที่ยืนอยู่ใกล้ๆก็พูดอะไรไม่ออก 

“เราหามาเท่าไรก็ไปจมกับน้ำหมด แล้วเราต้องใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะให้สภาพบ้านกลับคืนมา คนที่จะมาช่วยก็หาไม่ได้ น้ำก็ไม่มีให้ ปีนี้อายุ 60 แล้ว มันเป็นฝันร้ายที่คนอายุขนาดนี้ต้องมาเจอน้ำท่วม ต้องมาขนของหนีน้ำ ต้องมาเหนื่อยขนาดนี้ ถ้าโดนอีกทีก็ไม่รู้จะย้ายไปอยู่ไหน”

“ตอนปี 43 ลงมาเห็นของโดนน้ำท่วม ฉันน้ำตาไหลเลย แต่มาปี 53 นี้ ลงมาเห็นของโดนน้ำท่วมน้ำตาไม่ไหล แต่มันเจ็บเข้าไปในอก รู้อย่างเดียวว่าเราอยู่ตรงนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าอยู่ก็ไม่ได้ค้าขาย หรือว่าต้องไปอยู่บ้านพักข้าราชการ น้ำมาก็หนี น้ำลดก็กลับ”

ป้าริน ตั้งคำถามถึงระบบการระบายน้ำที่ทางจังหวัดได้สร้างใหม่ แม้กระทั่งปีที่แล้ว (2544) น้ำก็ท่วมเช่นกัน แต่มีการสูบน้ำและระบายได้ทัน ทำให้น้ำไม่ได้ท่วมหนักอย่างคราวนี้

“ระบบระบายน้ำดีแต่ระบบบริหารแย่  ชาวบ้านประมาท แต่ก็ไม่คิดว่าราชการจะประมาท ชาวบ้านมีสิทธิ์คิดว่าน้ำอาจจะไม่ท่วมหนัก แต่ราชการไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดได้เลย เราก็คิดว่าปีที่แล้วซึ่งน้ำท่วมเข้ามาในบ้านประมาณ 1 ฟุต แต่ทางราชการก็จัดการระบายได้เร็ว เราเลยคิดว่าระบบดีมาก”

“เสียหายครั้งนี้เป็นล้านบาท แต่ก็ได้มาครอบครัวละ 5 พัน ก็คงเอาให้กับญาติพี่น้องที่มาช่วยเป็นน้ำใจ ฉันยังสงสัยว่ามีทะเลให้ลง ทำไมต้องเอาน้ำป่าจาก อ.สะเดามาลงหาดใหญ่ คือน้ำมาจากประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นพื้นที่สูง แล้วก็มาที่สะเดา  2 ชั่วโมงก็มาที่หาดใหญ่ ทำไมไม่ให้น้ำจากสะเดาตรงไปลงที่ทะเลเลย เอามาลงที่หาดใหญ่ทำไม”

สัญญาณเตือนจากมดดำขนไข่

“มนตรี ศรียงค์” กวีซีไรท์ในคราบพ่อค้าบะหมี่เป็ดในเมืองหาดใหญ่ เป็นอีกรายหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ เขาชี้ให้ดูรถยนต์คันหนึ่งที่จอดนิ่งสนิทอยู่ใกล้ๆร้าน เมื่อวานมันลอยผ่านไปต่อหน้าต่อตา

สมิหลาร่ำไห้ ฝันร้าย “หาดใหญ่” รอบ 2

“ฝนเริ่มตกหนักจริงๆ 2 วัน แต่ละเม็ดนั้นใหญ่เหมือนเอากะละมังคว่ำ”

มนตรี บอกว่า มีการประกาศถึงสถานการณ์ที่เขื่อนสะเดาจะมีการระบายน้ำเพื่อรอรับน้ำใหม่ สิ่งนี้เป็นการเตือนว่าไม่ควรวางใจ

“พอเริ่มเห็นมดดำขนไข่ ซึ่งปกติมันก็ขนกันนะ แต่ขนกันน้อย ปีนี้มันมหึมา ผมก็มัวแต่ขนของอยู่ไม่รู้ว่ามันขนไปไหน แต่ใช่เลย เรามีประสบการณ์จากปี 43 ผมออกมายืนดูอากาศ หนาวแบบฝนนี่เรารู้สึก แต่หนาวครั้งนี้หนาวแบบหนาวไปทั้งขา เรารู้เลยว่าพื้นดินอุ้มน้ำเต็มแล้ว ผมตระเวนดูน้ำในคลองท่ามกลางฝน นั่นทำให้เราไม่วางใจ รีบกลับมาขนของบางส่วน ยกเว้นเครื่องทำหมี่ 2 ตัวปั๊มน้ำ และเครื่องบดพริก ซึ่งมอเตอร์มันหนักมาก”

“พอห้าทุ่มครึ่ง ระดับน้ำเริ่มปริ่มถนน เห็นน้ำเป็นสีแดง ก็เริ่มถอดมอเตอร์เครื่องทำหมี่ทันที เที่ยงคืนน้ำเข้าหลังบ้าน ก็ขนมอเตอร์ได้ 2 ตัว ส่วนเครื่องบดพริกวางไว้ เพราะหนัก ปั๊มน้ำหมดสิทธิ์ เอาไม่ทัน พอตี 2 น้ำเข้าสูง 1.50 เมตร เร็วมาก แต่ประสบการณ์ทำให้เรารู้ว่าต้องเก็บน้ำไว้ให้พอ น้ำเป็นสิ่งสำคัญ”

กวีหมี่เป็ด บอกอีกว่า ภูมิศาสตร์ของหาดใหญ่นั้นมีภูเขาล้อมรอบเป็นแก่งกระทะ ดังนั้นต้องท่วม ถ้าน้ำไม่ท่วมเป็นเรื่องผิดปกติ

“ความสำคัญของป่า น้ำมีแต่โคลน มีใครคำนึงไหมว่าไม่มีต้นไม้เป็นกำแพงชะลอ กรองโคลน ที่ป่าผาดำมีนายทุนรุกที่ ต่อสู้กับนักอนุรักษ์ เรื่องนี้คนเมืองไม่รับรู้ว่ามีการเล่นกันถึงตาย แม้จะไม่ได้ทำเพื่อคนหาดใหญ่แต่ชีวิตมันพึ่งกัน เราไม่เคยสำเหนียก ปล่อยให้เขาเดียวดาย”

ส่วนความเสียหายทางร้าน มนตรี บอกว่า แทบจะเป็นศูนย์ เพราะเชื่อคำเตือนของเทศบาล ของกรมอุตุนิยมวิทยา และฟังธรรมชาติคือมดดำขนไข่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน

“ปริมาณน้ำปี 43 มากกว่าปีนี้ประมาณคืบ แต่มวลน้ำที่มาหาดใหญ่หนักกว่าปี 43 ประมาณ 3-4 เท่า แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ขุดคลอง ท่อใต้น้ำ ถ้าปีนี้ไม่มีอะไรจะเกิดขึ้น”

“ผมไม่เศร้านะ น้ำท่วมเป็นเรื่องสนุก ผมเตรียมตัวทัน เราไม่ทุกข์ปีไหนไม่ท่วมหาดใหญ่เป็นเรื่องผิดปกติ เราต้องอยู่ให้ได้ เราไปทำร้ายสิ่งที่เราเรียกว่าธรรมชาติ นี่อาจไม่ใช่การสั่งสอนแต่อาจจะเป็นการเอาตัวรอดของธรรมชาติก็ได้ เป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของธรรมชาติเพื่อรักษาสมดุลของตัวเองไว้”

ส่วนเรื่อง “ขยะ” นั้น เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ใครๆก็ทิ้งกันไป เหมือนกับว่าได้โอกาสที่จะทิ้งก็ทิ้ง แล้วมันก็ไปตันไปอุด

เรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว?

ฝันร้ายดินถล่ม

สมิหลาร่ำไห้ ฝันร้าย “หาดใหญ่” รอบ 2

ที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา บ้านหลังหนึ่งตั้งอยู่เชิงเขา ในคืนวันที่ 1 พ.ย. ระหว่างที่พายุกระหน่ำ ครอบครัวซึ่งมี พ่อ แม่ ลูกแฝด 2 อายุ 3 ขวบ และหลานสาวอีกคนหนึ่ง

แม่ซึ่งเห็นว่ามีเสียงพายุพัดดังจนน่ากลัว เข้าไปสวดมนต์ในห้องพระ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง

พ่อ กล่อมลูกแฝดจนเด็กทั้งสองหลับไปในอ้อมกอด เขาฝากให้หลานสาวช่วยดูแลน้อง ก่อนจะเดินไปเปิดประตูดูว่าเสียงที่ดังกระหึ่มนั้นมาจากอะไร

เสี้ยววินาทีเดียวกันนั้น ดินโคลนจากภูเขาถล่มไหลเข้าไปในบ้าน บ้านทั้งหลังพินาศใต้ความมืดมิดของยามค่ำคืน เขาถูกต้นไม้กระแทกบาดเจ็บ หลานสาวถูกโคลนทับจมโผล่ขึ้นมาแค่คอ และร้องบอกว่าน้องน่าจะอยู่แถวๆนี้

เขารีบคุ้ยโคลนจนเจอศพเด็กทั้ง 2 ส่วนแม่ที่สวดมนต์อยู่ จมโคลนเสียชีวิตเช่นกัน

ไม่รู้ว่านี่คือสถิติอันน่าภูมิใจของคนหาดใหญ่หรือไม่ ที่ประกาศว่า อ.หาดใหญ่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วม

รู้แต่เพียงว่า ชายคนนี้ยังคงกลัวฝน กลัวเสียงฟ้าร้อง และทุกครั้งยังหวาดผวา

วันที่ 6 พ.ย. 53 มีการฌาปนกิจศพเด็กแฝดและแม่ อย่างเงียบๆ ที่ อ.สิงหนคร   

หน้าชื่นอกตรม

บรรยากาศชีวิตของคนหาดใหญ่หลังน้ำลด ต่างก็เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน ร้านค้าของตนเอง  เหมวรรณ แซ่อึ้ง ร้านอาหารเจชิงซิง ถ.แสงศรี เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งยอมรับว่านึกไม่ถึงที่น้ำจะท่วมมากขนาดนี้

สมิหลาร่ำไห้ ฝันร้าย “หาดใหญ่” รอบ 2

“คิดไว้ว่าน่าจะ 1 เมตรกว่าๆ แต่ปรากฏว่าในบ้านท่วม 2 เมตรกว่า เหมือนพายุมา ข้าวของล้มลงมาหมด เสียหายไป 2-3 แสนบาท นึกเสียว่าเป็นภัยธรรมชาติ แต่รัฐบาลก็มีน้ำใจกับเราให้มา 5 พันบาท เราก็ดีใจ”

ด้านร้าน “ทัชชกร แฟชั่น” บอกว่า เพิ่งจะเอาเสื้อผ้ามาลง 7 แสนบาท ความเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท

“ก็มีบางคนที่เขาเอาเสื้อผ้าที่จมน้ำออกมาขายตัวละ 10-20 บาท เราไม่ขาย เพราะถ้าซักไม่ออกคนที่ซื้อไปก็เสียความรู้สึก เราลงทุนซักอบรีดด้วยราคาเป็นหมื่นบาท ซักให้อย่างดีแล้วแจกฟรี”

ในขณะที่คนจากต่างจังหวัดและต่างอำเภอต่างหลั่งไหลเข้ามาใน อ.หาดใหญ่เพื่อจะจับจ่ายสินค้าจมน้ำราคาถูกจนทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก

“คนยังมาซื้อของ ไม่คิดว่าเราจะลำบาก จะมาซ้ำเติมกันไปถึงไหน มาจอดรถขวางหน้าบ้าน มาทำให้รถติด มาขวางการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ มาทิ้งขยะ หวังแต่จะมาซื้อของถูกกันเท่านั้น”

เหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ ปี 53 ครั้งนี้ นับเป็นฝันร้ายอีกครั้งหนึ่งของคนหาดใหญ่ หลังจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วถูกน้ำท่วมมาแล้วครั้งหนึ่ง

เมืองเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจนนักท่องเที่ยวลดหายไปเป็นจำนวนมาก ถูกซ้ำเติมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

บ้างว่าชาวบ้านประมาท ไม่เชื่อคำเตือนของทางการ

บ้างว่าราชการละเลย ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำสอง

หากการทะลักของคนต่างพื้นที่เข้ามาจับจ่ายสินค้าราคาถูกเป็นการซ้ำเติมคนหาดใหญ่แล้ว นี่ยังไม่นับถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆที่สับสนวุ่นวายไร้หลัก จนชาวบ้านส่วนหนึ่งหันมาพึ่งพาอาศัยกันเอง

ของบริจาคมหาศาลถูกกอง ถูกลำเลียง ถูกแจกจ่ายแบบใครทำใครได้หน้า และเอาใจนาย สิ่งเหล่านี้ก็เสมือนการซ้ำเติมที่เลวร้ายยิ่งกว่า

และตราบใดที่ความเดือดร้อนของคนอื่น คือโอกาสที่ทำให้คนบางจำพวกฉกฉวยเป็นความสุขของตนเอง

ฝนจะหลาก น้ำจะท่วมอีกกี่ร้อยครั้ง ผู้สูญเสียก็ย่อมจะถูกย่ำยีความรู้สึกเสมอไป