posttoday

ชาวบ้านนับหมื่นรำบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง

25 มีนาคม 2562

บึงกาฬ-ชาวบ้านบึงกาฬจัดงานบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอย่างยิ่งใหญ่ ชาวบ้านกว่าหมื่นคนพร้อมใจแต่งชุดสีม่วง-ขาวฟ้องรำถวาย

 

บึงกาฬ-ชาวบ้านบึงกาฬจัดงานบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอย่างยิ่งใหญ่ ชาวบ้านกว่าหมื่นคนพร้อมใจแต่งชุดสีม่วง-ขาวฟ้องรำถวาย

ชาวบ้านนับหมื่นรำบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่บริเวณถนนศาลเจ้าแม่สองนาง ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ นางรำทั้ง 8 อำเภอของ จ. บึงกาฬกว่า 10,000 คน รำบวงสรวงเจ้าแม่สองนางในงานวันสถาปนาจังหวัดบึงกาฬ ครบรอบ 8 ปี โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.บึงกาฬ นางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร นายกเหล่ากาชาดจ.บึงกาฬ พร้อมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชน จ.บึงกาฬ ร่วมพิธีบวงสรวงศาลเจ้าแม่สองนาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองบึงกาฬ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ทั้งนี้ มีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก โดยพร้อมใจกันใส่ชุดประจำจังหวัด สีม่วง - ขาว ร่วมฟ้อนรำบวงสรวงถวายแด่ศาลเจ้าแม่สองนางศาลเจ้าแม่สองนาง นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน ที่มีผู้คนมาสักการะมาก โดยมักจะพบเห็นศาลจำลองเจ้าแม่สองนางอยู่ตามริมแม่น้ำโขงด้วย เนื่องจากแต่ละตำนานของเจ้าแม่ ล้วนเกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง ศาลเจ้าแม่สองนางไม่ได้มีอยู่เฉพาะที่ริมแม่น้ำโขงของ จ.บึงกาฬเท่านั้น แต่มีการสร้างขึ้นหลายแห่ง ประกอบด้วยตำนานเรื่องราวที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้ว ที่สร้างศาลเจ้าแม่สองนางขึ้นมา เพราะมีความเชื่อว่า เจ้าแม่สองนางจะช่วยปกปักรักษาชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขง มีการไปกราบไหว้ขอพรให้การเดินทางราบรื่นและปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ลักษณะของตัวศาล สร้างด้วยรูปแบบไทย ๆ เน้นสีทอง และแดง ตัดกัน ปัจจุบันมีการบูรณะ ให้มีรั้วกั้นแบบทันสมัยลวดลายเหมือนประตูรั้วบ้านกั้นเป็นรั้วรอบ ตลอดจนกั้นด้านหน้าบันได สี่มุมเสารั้ว มีโคมไฟประดับสวยงาม จะเห็นทั้งพวงมาลัยและผ้าเจ็ดสีห้อยระโยงระยาง อีกทั้งดอกไม้ และขนมผลไม้ บูชา แสดงให้เห็นถึงศรัทธาของชาวบ้าน

สำหรับ ประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่สองนาง จ.บึงกาฬ แบ่งได้ 2 ตำนาน ตำนานแรก เล่าถึงสองพี่น้อง นางสมสีและนางบัวลี เป็นชาวไทยเดิมที่อพยพลงมาตามแม่น้ำโขงพร้อมบิดาและมารดา ในระหว่างการเดินทาง มารดาของสองพี่น้องเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ กระทั่งมาถึงเขตชัยบุรีหรือบึงกาฬในปัจจุบัน ทั้งสามได้ลงหลักปักฐานที่นี่โดยนางสมสีและนางบัวลีตั้งใจว่าจะไม่แต่งงาน เพื่อจะได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พ่อ

อีกตำนานหนึ่ง เล่าว่า เจ้าฟ้างุ้มแห่งเมืองล้านช้างพาลูกหลานอพยพมาตามลำน้ำโขง แต่เกิดเรื่องเศร้า เรือที่ใช้เดินทางมาล่มที่ปากห้วยมุก พระธิดาทั้งสองของท่านเสียชีวิต ต่อมาเชื่อกันว่า พระธิดาทั้งสองได้กลายเป็นเทพผู้ปกปักรักษาผู้ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง หรือผู้ที่เดินทางข้ามแม่น้ำโขง ชาวบ้านจึงนิยมตั้งศาลที่ริมแม่น้ำโขง

อย่างไรก็ตาม ศาลเจ้าแม่สองนางเพิ่งย้ายมาเมื่อปี 2498 และเคยมีทางราชการจะย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่หมอดูโหราศาสตร์ทักท้วงไว้ เนื่องจากตรงจุดนี้เห็นแม่น้ำโขงตลอด จึงไม่ได้ย้าย เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่า อุบัติเหตุที่เกิดในแม่น้ำเป็นการกระทำของเทพเจ้าทางน้ำ ที่เรียกกันต่างๆ เช่น พญานาค เงือก งู ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มพิธีกรรมใด ๆ จึงต้องมีการบูชาบอกกล่าวกันก่อน ตลอดจนในการเดินทาง หากได้มีการกราบไหว้แล้ว ดวงวิญญาณของเจ้าแม่สองนางจะปกป้องคุมภัยให้ผู้สัญจรไปมา

ชาวบ้านนับหมื่นรำบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง

ชาวบ้านนับหมื่นรำบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง

ชาวบ้านนับหมื่นรำบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง