posttoday

พัฒนาชุมชนน่านเต้น!สอบปมยัดเยียดของส่งเสริมการตลาด"โอทอป นวัตวิถี"

24 มกราคม 2562

น่าน – พัฒนาชุมชนน่านเผยผลตรวจสอบพัฒนาการอำเภอปัวถูกร้องเรียนยัดเยียดวัสดุอุปกรณ์มอบชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีอ้างก่อนแจกสอบถามชุมชนก่อนแล้วและปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทางราชการ

น่าน – พัฒนาชุมชนน่านเผยผลตรวจสอบพัฒนาการอำเภอปัวถูกร้องเรียนยัดเยียดวัสดุอุปกรณ์มอบชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีอ้างก่อนแจกสอบถามชุมชนก่อนแล้วและปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทางราชการ

กรณีที่ชาวบ้านร้องแง ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านตามโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถีของกรมพัฒนาชุมชนร้องเรียนว่า ได้รับสิ่งของเพื่อใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบถูกยัดเยียดของ ทั้งโปสเตอร์และแผ่นพับประชาสัมพันธ์ ที่นอนพร้อมผ้าปู มุ้ง หมอน แผ่นสติกเกอร์ติดตู้เย็น ผ้าทอลายไทลื้อ หมวก เสื้อยืด โตกอาหาร ถุงพลาสติกและไม่ตรงอัตลักษณ์ท้องถิ่น วัสดุหลายแบบชุมชนผลิตได้แต่กลับไปซื้อจากที่อื่นมาส่งมอบให้

นางพิสมัย ชมเชย พัฒนาการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ไปทางพัฒนาการอำเภอปัวแล้วได้ชี้แจงว่า โปสเตอร์ และแผ่นพับประชาสัมพันธ์ เป็นส่วนของกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ซึ่งได้จัดพิมพ์แผ่นพับหมู่บ้าน 10,000 แผ่น ราคาแผ่นละ 2 บาทและโปสเตอร์หมู่บ้านละ 7,300 ราคาแผ่นละ 5 บาท เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ตลอดทั้งปี ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับจังหวัด และระดับประเทศ  ซึ่งปริมาณสั่งพิมพ์มีผลให้ได้ราคาถูกลง

ส่วนของวัสดุสินค้าที่ระลึกก่อนสั่งผลิตได้"สอบถามความต้องการ"ชุมชนแล้วและในส่วนของวัสดุสนับสนุนโฮมสเตย์ที่เป็นเครื่องนอนสไตล์วิถีไทลื้อ ได้สั่งผลิตกับชุมชนบ้านเก็ต ต.วรนคร อ.ปัว ซึ่งเป็นอีก 1 ของหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว และที่"ไม่ได้จ้างบ้านร้องแงไผลิตเนื่องจากต้อง"ปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทางราชการ" อย่างไรก็ตามจะเข้าตรวจสอบวัสดุต่างๆที่ส่งมอบต่อชุมชนอีกครั้งว่า"เป็นไปตามข้อร้องเรียนของทางชุมชนหรือไม่"และเร่งหาแนวทางแก้ไข พร้อมกับสร้างความเข้าใจกับทางหมู่บ้านในระดับต่อไป

โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยว โอทอป นวัตวิถี  จังหวัดน่าน ดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน  2561  ใน 15 อำเภอ  รวม 63  หมู่บ้าน งบประมานเบิกจ่าย  32 ล้านบาท สามารถดำเนินการกรอบกิจกรรมด้านการสร้างเข้าใจ กองทุนหนุนเสริม อบรมแกนนำข้อมูลชุมชน  นักเล่าเรื่องชุมชน   หมู่บ้านโฮมสเตย์ ได้ตามแผนงาน 100 เปอร์เซ็นต์ ครบทั้ง 63 ชุมชน ส่วนด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดำเนินการไปได้  75 เปอร์เซ็นต์ การพัฒนาสินค้าชุมชน  และบริการ  55  เปอร์เซ็นต์ และพัฒนาภูมิทัศน์ทำได้เพียง20เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งนี้การขับเคลื่อนโครงการด้านต่างๆได้มากหรือน้อยเป็นไปตามศักยภาพ และความพร้อมของแต่ละหมู่บ้านด้วย