posttoday

"นครศรีฯ-สุราษฎร์ฯ-กระบี่-ตรัง" ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำอีก1-2วัน

05 มกราคม 2562

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เผยนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ฯ-กระบี่-ตรัง ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ หลังพายุปาบึกหยุดอยู่บริเวณเทือกเขาเป็นเวลานานทำให้ฝนตกสะสม

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เผยนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ฯ-กระบี่-ตรัง ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ หลังพายุปาบึกหยุดอยู่บริเวณเทือกเขาเป็นเวลานานทำให้ฝนตกสะสม

นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปฏิบัติการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุปาบึกทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นวงกว้าง โดยมีปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมาก บริเวณ อำเภอพิปูน (232.5 มม.) อำเภอลานสกา (204.6 มม.) อำเภอทุ่งสง (208.2 มม.) อำเภอฉวาง (166 มม.) อำเภอขนอม (163.5 มม.) อำเภอเชียรใหญ่ (127.8 มม.) อำเภอสิชล (131.4 มม.) อำเภอช้างกลาง(135 มม.) อำเภอเมือง(119 มม.) จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ อำเภอบ้านนาสาร(189 มม.) และอำเภอกาญจนดิษฐ์(166 มม.) เป็นผลทำให้มีน้ำปริมาณน้ำในคลองท่าดีในเขตเมืองนครศรีธรรมราชจำนวนมาก ระดับสูงสุดได้ผ่านไปแล้วในเวลาประมาณ 22.00 น.ของวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา

ในส่วนของน้ำที่มาจากบริเวณต้นน้ำจะเดินทางไปยังเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชในช่วงเช้าวันนี้ สทนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนและประสานหน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำ ตลอดจนเดินเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำที่ติดตั้งไว้เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดแล้ว

จากการติดตามทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุเมื่อคืน พบว่า พายุเดินทางมายังบริเวณเทือกเขาหลวงซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดตรัง และหยุดอยู่เป็นเวลานาน

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในระยะ 1-2 วันนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ โดยเฉพาะบริเวณ คลองท่าดี อำเภอเมือง คลองกลาย อำเภอท่าศาลา คลองท่าเลา อำเภอทุ่งสง อำเภอลานสกา และต้นแม่น้ำตาปี อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำในพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และแม่น้ำตรัง ที่อำเภอรัษฎา และอำเภอเมืองตรังต่อไป

ส่วนสถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากอิทธิพลพายุ พบว่า 2 วันที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำที่อยู่ทางพื้นที่ต้นน้ำและจะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอีกประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เมื่อรวมปริมาณน้ำทั้งหมดคาดว่าจะมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ร้อยละ 85 ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหยุดการระบายน้ำเพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำที่ระบายไหลลงไปส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ