posttoday

นายกฯท่าแลงการันตีโรงไฟฟ้าขยะไร้ปัญหาพร้อมตั้งทีมงานเกาะติด

16 พฤศจิกายน 2561

เพชรบุรี-"นายกฯท่าแลง" การันตีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะไร้ปัญหา เตรียมตั้งทีมงานเกาะติด ด้าน "ผู้บริหาร WPP" เผยได้ใบอนุญาตถูกต้อง พร้อมทุ่มใช้เทคโนโลยีป้องกันมลพิษมาตรฐานสากล

เพชรบุรี-"นายกฯท่าแลง" การันตีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะไร้ปัญหา เตรียมตั้งทีมงานเกาะติด ด้าน "ผู้บริหาร WPP" เผยได้ใบอนุญาตถูกต้อง พร้อมทุ่มใช้เทคโนโลยีป้องกันมลพิษมาตรฐานสากล

ที่โรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยขยะมูลฝอย ของบริษัทดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี (WPP) ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  นายสงวน จิตต์พุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง  พร้อมด้วย นายธวัชชัย โคตรเพชร หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม และนายอำนวย คงกระพันธ์ หัวหน้าสำนักงานพลังงาน จ.เพชรบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมและความถูกต้องของโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ขนาด 7.9 เมกะวัตต์ของ WPP หลังมีกรณีข้อพิพาทในพื้นที่เกิดขึ้นว่าโรงงานดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง

ทั้งนี้มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง กว่า 120 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์และเยี่ยมชมโรงงาน โดยมี น.ส.รมย์ชลี จันทร์ประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WPP ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม

นายสงวน จิตต์พุ่ม  นายกเทศมนตรี ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง กล่าวว่า หลังจากที่หน่วยงานได้เข้าดูพื้นที่และติดตามการก่อสร้างโรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบปัญหาหรือความกังวลใจใดๆ หลังจากที่โรงงานเดินหน้าผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อให้การติดตามเป็นไปอย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังไม่ให้มีปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบโรงงาน ตนแต่งตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารสุข, เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม และ นิติกร เพื่อเตรียมประสานกับเจ้าหน้าที่โรงงาน และขอให้โรงงานไฟฟ้าแจ้งรายละเอียดรวมถึงความคืบหน้าการทำงานแต่ละขั้นตอนมาให้เทศบาล

"ผมเห็นดีด้วย ที่จะมีโรงงานที่แปลงขยะไปเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ผมจะไม่ยอมให้โรงงานสร้างผลกระทบกับคน หรือชุมชนในพื้นที่ จากนี้ไปผมและคณะทำงานจะติดตามอย่างใกล้ชิด" นายสงวน กล่าว

นายธวัชชัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าโรงไฟฟ้าของ WPP ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายกำหนดและผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงพลังงาน มาตามขั้นตอน ขณะที่การก่อสร้างอาคารและระบบจัดการมลพิษต่างๆ เบื้องต้นการตรวจสอบพบว่าเป็นไปตามแบบที่ขออนุญาต ส่วนการตรวจสอบว่ากลไกป้องกันมลพิษที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปภายหลังจากที่โรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตแล้ว ยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐจะไม่ละเลยการตรวจสอบประเด็นต่างๆที่ชุมชนโดยรอบกังวลแน่นอน

"กระบวนการตรวจสอบทั้งหมด ต้องเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานด้านอุตสาหกรรม ทั้งก่อนเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ ต้องมีมาตรการตรวจสอบอีกหลายขั้นตอนรวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของพนักงานในโรงงานด้วย ดังนั้นสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่กังวลว่าจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น หรือ น้ำเสียที่ไหลลงสู่ชุมชน ขอให้คลายกังวลเพราะหน่วยงานภาครัฐต้องกำกับดูแลเข้มงวด และให้เป็นไปตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามพื้นที่ ต.ท่าแลง ถือเป็นเขตพื้นที่เพื่อกำจัดขยะ ดังนั้นการตั้งอยู่ของโรงงานจึงเป็นไปตามระเบียบ" นายธวัชชัย ระบุ

ด้าน นายอำนวย กล่าวเสริมว่า ในฐานะหัวหน้าสำนักงานพลังงาน ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนางานด้านพลังงานในพื้นที่ ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการของ WPP มาอย่างใกล้ชิด เชื่อว่า เมื่อเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจะเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่ทั้งในด้านการกำจัดขยะ ที่มีพื้นที่กำจัดขยะเป็นหลักแหล่งแน่นอน และเมื่อนำขยะเข้าสู่กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้พื้นที่มีความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากนั้นแล้วเมื่อโรงงานผลิตไฟฟ้าเปิดตัว ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน กำหนดให้ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนโดยรอบโรงผลิตไฟฟ้า ดังนั้นการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานต้องทำควบคู่กันไปทั้งการผลิตและพัฒนา

ขณะที่ นายเอื้อม ชุ่มจิตต์ ตัวแทนชาวบ้านหมู่5 ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง กล่าวภายหลังร่วมสังเกตการณ์ว่า ยอมรับว่ามั่นใจขึ้นว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงงานจะไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชีวิตของชุมชนโดยรอบอย่างที่เคยกังวล เพราะทีมงานพาเข้าไปดูและอธิบายถึงกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

"ผมสนับสนุนให้มีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ เพราะที่ผ่านมาพื้นที่นี้มีคนเอาขยะมาทิ้ง แต่ไม่มีใครเข้ามากำจัด เมื่อมีโรงงานเข้ามาแล้วเขาช่วยแก้ปัญหาไประดับหนึ่ง จากเดิมที่มีขยะถูกทิ้ง เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจากขยะไหลไปถึงชุมชน ปลาในบ่อตาย ชาวบ้านเดือดร้อน แต่เมื่อโรงงานเข้ามาทำให้ปัญหานั้นหมดไประดับหนึ่ง" นายเอื้อมกล่าว

ขณะที่ น.ส.รมย์ชลี กล่าวยอมรับว่า การชี้แจงและพาตัวแทนชาวบ้านเข้าพื้นที่นั้น ยังไม่สามารถทำให้ชุมชนโดยรอบตอบรับได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จากนี้ไปทางเจ้าหน้าที่ต้องลงพื้นที่เพื่ออธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจอีกครั้ง ถึงการสร้างประโยชน์และมาตรฐานการป้องกันมลพิษด้านต่างๆ  ทั้งนี้โรงงานไฟฟ้าได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอนุญาตขายไฟฟ้าให้หน่วยงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว และเป้าหมายของเรา คือ พัฒนาให้เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะต้นแบบของอาเซียน ดังนั้นเราเน้นลงทุนในระบบป้องกันและมาตรฐานความปลอดภัยสูงตามหลักสากล เพื่อให้โรงงานที่นี่เป็นไปตามเป้าหมาย​ ดังนั้นปัญหาที่ชาวบ้านกังวล ทั้งมลพิษทางอากาศ หรือ มลพิษทางน้ำ ได้ออกแบบระบบป้องกันไว้ทั้งหมด พร้อมกับมีแผนที่จะประเมินคุณภาพทุกๆ  6 เดือนเมื่อกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าเดินเครื่องแล้ว

น.ส.รมย์ชลี เปิดเผยถึงแผนการหลังจากที่โรงไฟฟ้าเดินเครื่องเริ่มผลิตไฟฟ้าด้วยว่า การประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะผู้ขนส่งขยะมายังพื้นที่ โดยขอให้ใช้รถขนขยะที่มีมาตรฐาน มีผ้าใบคลุม และมีถังน้ำรองรับน้ำเสียจากขยะระหว่างขนส่ง ขณะที่การขนขยะที่กำหนดไว้วันละ 300 ตัน จะใช้รถขนขยะขนาดใหญ่ ประมาณ 30 คัน แทนรถขนขยะขนาดเล็กที่ต้องใช้วันละ 100 คันแทน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่