posttoday

ประมงสงขลาเตรียม7มาตรการรับมืออุทกภัยหวั่นจระเข้หลุดฟาร์ม

06 พฤศจิกายน 2561

สงขลา-ประมงสงขลาประกาศ7มาตรการเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยชี้ “ฟาร์มจระเข้”ต้องออกแบบมั่นคง แข็งแรง ระวัง จระเข้ ปีนออก

สงขลา-ประมงสงขลาประกาศ7มาตรการเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยชี้ “ฟาร์มจระเข้”ต้องออกแบบมั่นคง แข็งแรง ระวัง จระเข้ ปีนออก

นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จ.สงขลา  จะเกิดภาวะอุทกภัยเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ทุกปี  ทำให้พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก  เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง และความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงออกประกาศเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปี 2561 ดังนี้

1.ในภาวะต้นฤดูฝนไม่ควรสูบน้ำเข้าบ่อเพราะน้ำจะพัดพาสิ่งสกปรกจากผิวดิน  ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ควรปล่อยให้น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น   จึงจะนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

2.จัดทำร่องระบายน้ำและขุดลอกตะกอนดินที่จะทำให้ร่องระบายน้ำตื้นเขินออกไปเพื่อให้น้ำไหลเข้าออกสะดวก

3.จัดเตรียมเครื่องเพิ่มออกซิเจนไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือสัตว์น้ำในบ่อในกรณีปริมาณน้ำจากภายนอกไหลเข้าออกอย่างกระทันหัน

4.เตรียมทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่าย   หรือบริโภคเพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำในบ่อให้เหลือน้อยลง  ปรับปรุงคันบ่อ เสริมคันบ่อ  หรือขึงอ้วนไนล่อน  ล้อมรอบบ่อให้สูงพอกับปริมาณน้ำที่เคยท่วมในปีที่ผ่านผ่านมา จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องสูบน้ำ  เครื่องเพิ่มออกซิเจน ยาปฏิชีวนะไว้ให้พร้อม

5.จัดเตรียมปูนขาวไว้สำหรับพื้นที่ดินกรดดินเปรี้ยวเพื่อปรับสภาพน้ำในบ่อหลังน้ำท่วมปริมาณ 50-60 กก./ ไร่

6.วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาลเพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำได้ก่อนฤดูน้ำหลาก

และ7.การเลี้ยงปลาในกระชังควรตรวจสอบความแข็งแรงของวัสดุอุปกรณ์ในการผูกยึดตัวกระชัง   เพื่อให้สามารถกักขังสัตว์น้ำและต้านทานกระแสน้ำได้   ควรยกกระชังเลี้ยงปลาให้สูงจากผิวน้ำไม่น้อยกว่า 1 เมตร  และควรนำผืนอวนมาปิดปากกระชังถ้าจำเป็นเพื่อป้องกันปลาหลุดออกจากกระชังเลี้ยงปลา

“การเลี้ยงจระเข้ในที่กักขัง จำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบให้บ่อเลี้ยงจระเข้  มีความมั่นคง แข็งแรง  และปลอดภัยเพียงพอเพื่อป้องกันปัญหาจระเข้  ปีนหลบหนีหรือขุดรูหลบหนีออกจากบ่อเลี้ยง   โดยเฉพาะเมื่อตามต้องประสบปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัย”

ทั้งนี้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกต   และดูแลสัตว์น้ำในระยะอย่างใกล้ชิด หากพบปลาป่วยหรือมีอาการผิดปกติสามารถแจ้งหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา  โทรศัพท์ 0 7431-1302  หรือกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำกรุงเทพฯโทรศัพท์ 02-579-4122.