posttoday

สทนช.เตือน48จังหวัดรับมือฝนตกหนัก

14 กันยายน 2561

กรมชลประทานพร้อมรับมือน้ำหวั่นลุ่มปราจีน-นครนายกอ่วมท่วมเตรียมแก้มลิงบางพลวงเป็นพื้นที่รองรับ

กรมชลประทานพร้อมรับมือน้ำหวั่นลุ่มปราจีน-นครนายกอ่วมท่วมเตรียมแก้มลิงบางพลวงเป็นพื้นที่รองรับ

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า หลังจากที่พายุไต้ฝุ่นมังคุดขึ้นฝั่งที่เกาะลูซอน ฟิลิปปินส์ เมื่อคืนวันที่  14 ก.ย.61 จากนั้นจะเคลื่อนตัวไปเกาะฮ่อง และไต้หวันจะอ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อนซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อไทยทำให้ช่วง 14-19 ก.ย.61จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เกือบทั่วประเทศ วันที่  15 ก.ย.จะตกหนักในพื้นที่เหนือตอนล่าง ภาคกลาง ตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำนครนายก วันที่ 16ก.ย.61 จะตกหนักในพื้นที่พังงา ระยอง และ17ก.ย.61จะตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน กระบี่ สตูล ขอให้ประชาชนติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยว่า พายุดีเปรสชัน"บารีจัต"ได้สลายตัวแล้วยังเหลือไต้ฝุ่นมังคุดจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อยและจะลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนคาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ และอ่อนกำลังลงตามลำดับ และจะสลายตัวบริเวณประเทศจีนตอนใต้ หรือเวียดนามตอนบนในระยะต่อไป ทำให้ระหว่าง 17-18 ก.ย.61 ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้แรงขึ้น ให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก 48 จังหวัด  ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง มีฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากสูงสุดที่  จ.อุบลราชธานี 202 มม. จ.ศรีสะเกษ115 มม. ปราจีนบุรี 95 มม. อุดรธานี 94 มม.กำแพงเพชร 91 มม. ลำพูน 70 มม.กรุงเทพมหานคร 60มม.

สำหรับเขื่อนใหญ่มีน้ำเกิน  80%และเกินเกณฑ์ควบคุม 6เขื่อน ให้หน่วยงานรับผิดชอบบริหารให้มาอยู่ในเกณฑ์ควบคุม เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีน้ำ 104% เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  99%ไม่มีน้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี คิดเป็น 92% เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก คิดเป็น 86% เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี  89% ส่วนภาคตะวันออกมีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในแม่น้ำนครนายก อ.องครักษ์ จ.นครนายก ยังทรงตัว แม่น้ำปราจีนบุรี  อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ลดลงแม่น้ำบางปะกง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ระดับน้ำทรงตัว และภาคกลางมีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้เตรียมพร่องนำในลุ่มน้ำปราจีน ลุ่มน้ำนครนายก และน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชลและเขื่อนนฤบดินทรขินดาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนตามที่กรมอุตุฯคาดการณ์ และกรณีในสองลุ่มน้ำมีปริมาณน้ำมาก กรมชลฯจะดึงน้ำเข้าแก้มลิงบางพลวงในขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่งพื้นที่ทุ่งบางระกำ ตอนบน 3.8  แสนไร่ ลุ่มเจ้าพระยา 12 ทุ่ง  เป็นแก้มลิง  1.5 ล้านไร่ จะรับน้ำหลากได้รวม  2 พันล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) พร้อมรับน้ำเหนือ หากต้องใช้กรมชลฯจะประกาศเอาน้ำเข้าทุ่ง  อย่างไรก็ตามในวันที่  14 ก.ย.  กรมได้เริ่มนำเข้าน้ำทุ่งบางระกำแล้ว โดยประสานผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก-สุโขทัย ทำความเข้าใจเกษตรกรล่วงหน้า ปลูกข้าวเหลื่อมเวลาและเก็บเกี่ยวไปแล้ว

สำหรับทุ่งบางระกำ พื้นที่ 3.82 แสนไร่ สามารถนำน้ำเข้าไปไว้ได้หากมีน้ำมากในลุ่มน้ำยม-น่าน ต่อจากนั้นพื้นที่รับน้ำหลากลงพื้นที่ลุ่มตอนล่างจ.นครสวรรค์ ประสานผู้ว่าราชการในพื้นที่12ทุ่ง ในจ.ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี เป็นพื้นที่แก้มลิง 1.2 ล้านไร่ มีทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งโครงการพระยาบรรลือ ทุ่งโครงการฯรังสิตใต้ ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งโพธิ์พระยา ซึ่งทางจังหวัดจะจิดจามการเก็บเกี่ยวคาดว่าจะเกี่ยวหมดทั้ง 12 ทุ่ง  ภายในวันที่ 14-15 ก.ย.61

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ได้จัดประชุมชี้แจงแผนการดำเนินการโครงการบางระกำโมเดลปี 2561 เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และลงมติเห็นพ้องกัน ในการเริ่มนำน้ำเข้า ทุ่งบางระกำตามแผนที่ได้วางไว้ โดยในเบื้องต้นจะทำการผันน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำบางส่วนของโครงการฯ ซึ่งมีความพร้อม   ที่จะรับน้ำ อาทิ ทุ่งคลองแยงมุม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม , ทุ่งแม่ระหัน ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก , ทุ่งตะแบกงาม ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ พื้นที่รวมประมาณ 30,000 - 40,000 ไร่ ความลึกเฉลี่ยประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร เป็นการกำจัดวัชพืชและตัดวงจรโรคแมลง รวมทั้งหนูนา ช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก