posttoday

4เขื่อนยังวิกฤตน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม เร่งระบายรับมือฝนตกหนัก

20 สิงหาคม 2561

เขื่อนแก่งกระจาน วชิราลงกรณ ขุนด่านฯ น้ำอูน วิกฤตมีน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม กรมชลประทานปรับแผนเร่งพร่องน้ำรับมือไทยฝนตกหนัก

เขื่อนแก่งกระจาน วชิราลงกรณ ขุนด่านฯ น้ำอูน วิกฤตมีน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม กรมชลประทานปรับแผนเร่งพร่องน้ำรับมือไทยฝนตกหนัก

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีขั้นวิกฤตจึงสั่งให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำต่อเนื่องเพื่อรับมือพายุดีเปรสชัน “เบบินคา” แม้ว่าได้เคลื่อนออกจากภาคเหนือตอนบนของไทยเข้าปกคลุมประเทศเมียนมา แต่ยังคงทำให้ไทยฝนตกหนักทุกภาค

นายทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 19 ส.ค. มีปริมาณน้ำ 767 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 108% ของความจุอ่าง น้ำไหลลงอ่างประมาณ 37 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของเขื่อนแก่งกระจาน ทำให้มีน้ำไหลลงอ่างมากขึ้น จึงมีการระบายน้ำออกจากอ่างช่องทางปกติและกาลักน้ำ ปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลลงสู่เขื่อนเพชร

ขณะที่เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี (7,759 ล้าน ลบ.ม. หรือ 88% น้ำไหลเข้า 132.05 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบาย 41.42 ล้าน ลบ.ม./วัน) พื้นที่ท้ายเขื่อนยังไม่ได้รับผลกระทบ การบริหารจัดการน้ำเร่งพร่องน้ำ โดยเพิ่มการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนที่เพิ่มขึ้นปริมาณ 41.42 ล้าน ลบ.ม./วัน

ด้านเขื่อนขุนด่านปราการชลมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 86% ของความจุอ่างเร่งระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม มีน้ำไหลลงอ่างวันละประมาณ 4.04 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีการระบายน้ำวันละประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. ยังไม่ส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งแต่อย่างใด ส่วนเขื่อนน้ำอูนมีปริมาณน้ำเก็บกัก 529 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102% มีน้ำเข้าเขื่อน 3.65 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกจากเขื่อน 5.37 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการระบายน้ำทุกเขื่อนนั้นจะทำให้ประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือถึงทุกอำเภอเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่มตลอด 24 ชั่วโมงเนื่องจากฝนตกหนัก ประกอบกับเขื่อนวชิรลงกรณเพิ่มการระบายน้ำผ่านช่องปกติวันที่ 18-22 ส.ค. เฉลี่ย 43 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 23-27 ส.ค. เป็น 53 ล้าน ลบ.ม. และผ่านทางระบายน้ำล้น (สปิลเวย์) วันละ 10 ล้าน ลบ.ม. อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนลุ่มแม่น้ำได้

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือหลายจังหวัดยังวิกฤต เช่น จ.น่าน ประสบอุทกภัยหนักสุด 9 อำเภอ ที่ จ.เชียงราย หนักสุดที่ ต.แม่คำ อ.แม่จัน พนังดินริมน้ำคำพังน้ำทะลักท่วมกว่า 250 หลังคาเรือน เสียชีวิต 1 ราย เช่นเดียวกับที่ จ.นครพนม น้ำท่วมหนัก 10 อำเภอ และที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งเอ่อท่วมหลายพื้นที่แล้ว หากน้ำยังเพิ่มระดับไม่หยุดจะส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจอน้ำท่วมขยายวงกว้างซ้ำ