posttoday

สั่งเร่งพร่องน้ำจากเขื่อนรับมือฝนหนักจากพายุ"เบบินคา"ช่วง16-18ส.ค.นี้

14 สิงหาคม 2561

สทนช.เฝ้าระวังอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เบบินคา" และร่องมรสุมใหม่ ส่งผลฝนตกหนักหลายพื้นที่ สั่งเร่งพร่องน้ำเขื่อนขนาดกลาง-ใหญ่รองรับ

สทนช.เฝ้าระวังอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เบบินคา" และร่องมรสุมใหม่ ส่งผลฝนตกหนักหลายพื้นที่ สั่งเร่งพร่องน้ำเขื่อนขนาดกลาง-ใหญ่รองรับ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำที่เกี่ยวข้อง ว่า ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้ติดตามสภาพอากาศระหว่างวันที่ 14-19 สิงหาคม จะเกิดพายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งของประเทศจีนตอนใต้แล้วทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "เบบินคา" (BEBINCA) คาดว่า จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ทั้งนี้โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 16-18 ส.ค.จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับการก่อตัวของพายุลูกใหม่ด้วย ประกอบด้วย

ภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายขอบของแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งต้องเฝ้าระวังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่านภาคใต้ แล้วเคลื่อนตัวไปภาคตะวันตก จังหวัดตาก กาญจนบุรี และจังหวัดเพชรบุรี , ภาคตะวันออก จังหวัดตราด จันทบุรี และบริเวณชายขอบของจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครนายก ที่มีความเสี่ยงฝนจะตกหนักบริเวณนี้ จึงให้เร่งระบายและพร่องน้ำออกจากเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง รองรับปริมาณน้ำฝนใหม่ที่จะเข้ามา ทั้งเขื่อนแก่งกระจาย เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนขุนด่านปราการชล

โดยเฉพาะนครนายก ได้เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นช่วงสัปดาห์นี้เป็นพิเศษ หลังเมื่อวานนี้ 13 ส.ค.61 เกิดฝนตกหนักบนเขาใหญ่สูงถึง 100 มิลลิเมตร จนเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมน้ำตกต่างๆ และแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้ต้องเฝ้าระวังและวิเคราะห์ความจำเป็นในการระบายและพร่องน้ำออกจากเขื่อนขุนด่านปราการชลที่มีศักยภาพรับน้ำได้ 225 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เก็บกักน้ำได้จริง 224 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 73 ของความจุอ่าง โดยวันนี้มีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าอ่างถึง 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีการระบายน้ำออก 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยฝนมีแนวโน้มตกหนักเพิ่มขึ้น จึงเร่งวิเคราะห์แนวทางการปรับแผนระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อรองรับน้ำฝนใหม่ด้วย เนื่องจากช่วง 1-2 วันนี้หากฝนยังตกในระดับ 100 มิลลิเมตร อาจทำให้น้ำเกินกว่าระดับน้ำเกณฑ์ควบคุม แต่จำเป็นต้องประเมินปริมาณน้ำที่อาจกระทบท้ายเขื่อนด้วย

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ยังมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจาน 710 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 102 ของความจุอ่าง แล้วยังมีน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) 34 เซนติเมตร เริ่มลดลงต่อเนื่อง แต่ยังคงการระบายน้ำอยู่ที่ 150-160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนเขื่อนเพชรบุรี มีน้ำไหลเข้าจากการระบายจากเขื่อนแก่งกระจานอยู่ที่ 86 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมถึงจากอ่างเก็บน้ำห้วยผากและเขื่อนห้วยแม่ประจันต์ ทำให้มีการระบายน้ำรวม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรบุรี