posttoday

โรคหืด... การรักษาที่ทั่วถึง

24 กรกฎาคม 2561

ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังกว่า 4 ล้านคน นับวันจำนวนผู้ป่วยมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นด้วยหลายสาเหตุ

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ สมชาย ภูมิลาด/เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย

ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังกว่า 4 ล้านคน นับวันจำนวนผู้ป่วยมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นด้วยหลายสาเหตุ การให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง จะเป็นการช่วยลดอัตราความเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลและการสูญเสียชีวิตได้

รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network-EACC) กล่าวว่า เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หลังก่อตั้งเครือข่าย 14 ปี ผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ต้องนอนโรงพยาบาล ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลระบุว่า ผู้ป่วยหอบรุนแรงต้องเข้านอนรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 67,813 ครั้ง ในปี 2553 ลดลงเหลือ 50,228 ครั้ง ในปี 2557 ลดลงกว่า 17,585 ครั้ง หรือคิดเป็น 25.9% เป็นการช่วยลดอัตราการสูญเสียชีวิตของคนไข้ และช่วยภาครัฐลดงบประมาณการสาธารณสุขลงทางหนึ่ง

หากพิจารณาภาพรวมของคนไข้โรคหืดและปอดอุดกั้นในไทย พบว่ายังมีคนไข้ที่เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวจำนวนมาก นั่นเป็นเพราะสัดส่วนของคนไข้ที่เข้าถึงการรักษามีเพียง 30% ถือเป็นความท้าทายที่จะทำอย่างไรให้คนไข้อีก 70% เข้าถึงระบบบริการที่ได้มาตรฐาน 

ที่ผ่านมามีการผสานการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเครือข่ายคลินิกโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย มีการจัดประชุมกันต่อเนื่องทุกปี เพื่อมุ่งหาแนวทางในการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในรูปแบบ Easy Asthma and COPD Clinic (EACC) สู่สถานบริการสาธารณสุขระดับชุมชน

การสร้างโอกาสในการเข้าถึงการรักษา ภายใต้นโยบาย Asthma and COPD Admission rate near zero มุ่งให้ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงบริการสาธารณสุขในการรักษาโรคหืดระดับชุมชนได้อย่างทั่วถึง ควบคุมโรคได้ และมีอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลใกล้ศูนย์ให้มากที่สุด ปัจจุบันมีเครือข่าย EACC ทั่วประเทศ 1,415 แห่ง จำนวนเครือข่ายที่มากขึ้น ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลลงอย่างมาก

ล่าสุด การประชุมใหญ่ประจำปี ครั้งที่ 14 EACC Annual Meeting เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ให้แพทย์ทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถรักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้สถานบริการสาธารณสุขหรือสมาชิกเครือข่ายฯ ที่ทำคลินิกได้มาตรฐานแล้ว สามารถขยายรูปแบบและแนวทางการรักษาแบบเดียวกันกับที่ดำเนินการอยู่ ณ ปัจจุบัน ไปสู่ระบบบริการปฐมภูมิ หรือ PCC (Primary Care Custer)

“โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือที่เรียกว่า รพ.สต.ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านมีความรับผิดชอบมากขึ้น นั่นหมายถึงประชาชนที่สามารถเข้าถึงการให้บริการสาธารณสุขที่ดีขึ้นอย่างมาก”

ที่สำคัญเป็นการช่วยลดความแออัดของจำนวนผู้ป่วยโรคหืดที่จะเข้ามารักษาโรงพยาบาลใหญ่ รวมถึงโรงพยาบาลใหญ่เองก็สามารถส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้น ไปยังหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านผู้ป่วยได้ หากหน่วยงานดังกล่าวมีมาตรฐานและแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยในทิศทางเดียวกัน จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงไม่ต้องรอคิวเป็นเวลานาน และยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่ใช้ในการรักษาได้มากขึ้น

รศ.นพ.วัชรา เล่าว่า  การขยายการทำงานแบบเครือข่ายฯ ไปสู่สถานบริการสาธารณสุขระดับอื่นๆ โดยมีเครือข่าย EACC โรงพยาบาลใหญ่เป็นพี่เลี้ยง จะทำให้รูปแบบการรักษาที่ได้มาตรฐานไปถึงผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งโรงพยาบาลใหญ่เอง ก็ไม่ต้องเจอปัญาคนไข้ล้นคลินิกแบบที่เห็นในทุกเมื่อเชื่อวัน

“เราอยากให้ทุกคนช่วยกันเพื่อให้คนไข้เข้าถึงมาตรฐานการรักษามากกว่า 50% ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงคลินิกภายในโรงพยาบาล หรือการสร้างลูกข่าย EACC Network ในการส่งต่อคนไข้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะไม่ทิ้งใครไว้ที่เบื้องหลัง นำพาทุกคนสู่เป้าหมาย การสร้างโอกาสการรักษาผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ทั่วถึง” รศ.นพ.วัชรา กล่าว