posttoday

ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์แถลงปิดศอร. ยกความสามัคคีนำทางสู่ความสำเร็จ

11 กรกฎาคม 2561

ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์แถลงปิดศูนย์ค้นหาผู้ศูนย์หายถ้ำหลวงอย่างเป็นทางการ ยกความสามัคคีจากทุกฝ่ายช่วยนำทางสู่ความสำเร็จ เดินหน้าถอดบทเรียนพัฒนาการกู้ภัยในอนาคต

ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์แถลงปิดศูนย์ค้นหาผู้ศูนย์หายถ้ำหลวงอย่างเป็นทางการ ยกความสามัคคีจากทุกฝ่ายช่วยนำทางสู่ความสำเร็จ เดินหน้าถอดบทเรียนพัฒนาการกู้ภัยในอนาคต

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) แถลงปิดศูนย์อำนวยการฯ ตลอดปฏิบัติการกว่า 17 วัน ว่า ได้เปิดศูนย์อำนวยการฯมาได้ 17 วัน ถือว่าเราประสบความสำเร็จที่ประเทศไทยสร้างชื่อเสียงระดับโลกในภารกิจครั้งนี้ จากปฏิบัติการอิมพอสซิเบิ้ล กลายเป็น ปฏิบัติการพอสซิเบิ้ลไปแล้ว การทำงานครั้งนี้ จะสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับพระบารมี จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

นอกจากนี้ ยังได้เห็นความสามัคคีทั้งในและนอกประเทศ เกินกว่าคำว่ากู้ภัย กู้ชีพ การมารวมกันเป็นการทลายชาติภาษาลงให้บรรลุสู่เป้าหมายเดียวกัน

นายณรงค์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการคือความร่วมมือที่ดีมาก ทั้งเทคโนโลยี ความรู้ที่มาร่วมกัน ความร่วมมือทางอุปกรณ์ใช้ในภารกิจเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะปิดภารกิจการสืบค้นค้นหา เรายังต้องการคือการส่งกลับยังต้องดำเนินการอยู่ เด็กๆถูกส่งไปที่โรงพยาบาลเชียงรายฯ นอกจากนั้นยังต้องเตรียมส่งพื้นที่อุทยานฯให้ทางกรมอุทยานฯ ฟื้นฟูต่อไป ส่วนอุปกรณ์จากทั่วโลกที่นำมาใช้บางส่วนคืนไปแล้วและต้องแจกแจงให้ชัดเจนต่อไป

“สิ่งสำคัญที่สุดเราจะถอดบทเรียนที่ไม่ใช่เกิดการกู้ภัยธรรมดา แต่เป็นการกู้ภัยผู้สูญหายที่น้ำท่วมเกือบเต็มถ้ำ ซึ่งปัญหาต่างๆ เราจะถอดบทเรียนและนำไปสอนเด็กๆถึงความอันตรายถึงสถานที่ และพัฒนาการกู้ภัยต่างๆในอนาคต”

ขณะที่ในสื่อออนไลน์มองว่าน้องเป็นพระเอก เป็นผู้ร้ายบ้าง แต่เราไม่เคยมองว่าเด็กเหล่านั้นเป็นใคร แต่เป็นเด็กน้อยที่ปฏิบัติไปตามวิสัยเด็ก และเกิดเหตุสุดวิสัยของเด็ก เชื่อว่าเด็กเหล่านี้เมื่อเติบโตจะรู้ว่าคนหลายร้อยล้านคนติดตาม เชื่อว่าเด็กทั้งหมดจะเป็นคนดีมีคุณค่าต่อคนไทย เพราะกำลังใจ 60 กว่าล้านที่เป็นกำลังใจ เชื่อว่าเด็กจะตอบแทนคืนสังคมที่ได้ช่วยเหลือเขา ถ้าเด็กๆแข็งแรงเราอาจพบปะ ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตอันใกล้ ส่วนการตัดสินใจตรงนั้นเป็นเรื่องของหมอถึงความเหมาะสมว่าเมื่อใด

นายณรงค์ กล่าวว่า ส่วนการปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ เช่น ทีมดำน้ำจะเป็นต่างประเทศ 1 ใน 4 ของทีมปฏิบัติ หลังจากนี้จะรวบรวมฐานข้อมูลว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนบ้าง หากมีเหตุการณ์เช่นนี้อีก จะได้ทราบว่ามีบุคลากรทรงคุณค่าของโลกนี้อยู่ตรงไหนบ้าง ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์ จะรวบรวมไว้ โดยพื้นที่ตรงถ้ำหลวง จะมีการรวบรวมภาพและเรื่องราวเอาไว้ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียน ซึ่งเราจะเปิดเป็นที่เที่ยวแห่งใหม่ และจะเป็นไฮไลต์และเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมาก และเป็นแหล่งเรียนรู้จากคนทั่วโลกให้มาศึกษาถ้ำนี้

“วีรบุรุษตัวจริงก็คือ จ่าแซม หรือ จ่าเอกสมาน กุนัน คือ วีรบุรุษตัวจริงของเรา วันที่ทราบข่าวเราซึมเศร้า เสียใจ แต่เราเห็นความเสียสละของจ่าแซมแล้ว เราเอาจ่าแซม มาเป็นพลัง มุ่งมั่นเพื่อจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ อีกเรื่องที่น่าเสียใจ คือ ได้รับโทรศัพท์จากออสเตรเลีย ว่า คุณพ่อ ของ นพ.ริชาร์ด แฮริส เสียชีวิตในคืนที่ผ่านมา เราเสียใจอย่างสุดซึ้ง ขอขอบคุณ ณ ที่นี้ หากไม่มี นพ.ริชาร์ด เชื่อว่าปฏิบัติการของเราคงไม่สำเร็จ” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์แถลงปิดศอร. ยกความสามัคคีนำทางสู่ความสำเร็จ

ด้าน นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ดำเนินการหาโพร่งถ้ำรวมกับทหาร ตำรวจ ทีมปีนเก็บรังนก ทั้งหมดที่สำรวจได้ 100 กว่าโพร่ง มี 2 โพร่งที่ต้องฟื้นฟู ส่วนทางเบี่ยงน้ำต้องปรับสภาพฟื้นฟู ทีมธรณีเดินสำรวจน้ำตลอดว่าน้ำเข้าไปตรงจุดใด ก็พบบริเวณบ้านผาหมี 1.8 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน ค่อยๆซึมเข้าถ้ำไป จึงอาศัยกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ชาวบ้านกว่า 200 คน เข้ามาช่วยเหลือ และมีการทำบายพาสเส้นทางน้ำออกมาด้วย โดยกรมน้ำบาดาล สูบน้ำออก6,000 ลูกบาศก์เมตรจากหน้าถ้ำ โดยใช้เครื่อง 3 เครื่อง และปิดไป 3.2 หมื่นลูกบาศก์เมตรบริเวณลำห้วย ที่ไหลเข้าถ้ำไปประมาณวันละ 4 หมื่นลูกบาศก์เมตร

“เรื่องการเตรียมแผนฟื้นฟูเพื่อให้ระบบนิเวศกลับคงสู่สภาพเดิมนั้น ต้อมีมาตรการรักษาความปลอดภัย จะต้องทำแผน ระบบนิเวศ บนถ้ำ ในถ้ำ ปรับภูมิทัศน์ มาตรการรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งแผนระยะสั้นตอนนี้เราปิดถ้ำหมดแล้ว กั้นรั้ว ของอุปกรณ์ที่อยู่ปล่อยไว้อย่างนั้นจะดูแลตลอด 24 ชั่วโมง"

"หน่วยงานใดก็แล้วแต่ไม่ว่าจะปิดทองหลังหรือหน้าพระ ทั้งหมดสำคัญหมด เป้าหมายเป็นหนึ่งเดียวที่ต้องนำน้องๆออกมาให้ได้ ไม่ว่าทำตรงไหนสำคัญเท่ากันหมด"

นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากต้องการให้การเข้าไปทำงานสะดวก และประกาศเขตความช่วยเหลือเพื่อให้การช่วยเหลือสั่งการเป็นไปอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีการนำเครื่องมือเทคโนโลยี เข้ามาสนับสนุนกำลังพล หาช่องทางแผนลำเลียงเด็กออกมา โดยมีระบายน้ำ ในถ้ำคือเป้าหมายหลักที่ต้องเร่งระบายน้ำในถ้ำออกมาให้ได้ มีเครื่องสูบน้ำหอยโข่ง พญานาค ไดโว่ รวมทั้งสภาพอากาศเป็นใจทำให้การช่วยเหลือสามารถทำได้

“เรื่องเก็บวัสดุอุปกรณ์ภายในน้ำนั้นขอคงไว้ก่อน เราจำเป็นต้องค้างไว้ เพื่อคืนสภาพเดิม ครั้งนี้ถือเป็นภัยพิบัติที่เราไม่เคยเตรียมการมาก่อน ต่อจากนี้จะเป็นการถอดบทเรียนระดับจังหวัดและระดับประเทศ ว่าอะไรมีปัญหา ระบบเตือนภัย เพื่อเตรียมแผนเผชิญเหตุ ไปปรับเตรียมพร้อมรับมือต่อไป” นายกอบชัย กล่าว

นายสุขชัย เจรียงประเสิรฐ เกษตรจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำหรับแผนการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนานั้น จะมีเรื่องเมล็ดพันธุ์ ผักสวนครัว เมล็ดพันธุ์ข้าว กข.6 ข้าวหอมมะลิ เรื่องของเชื้อราต่างๆ โดยมีเกษตรกรได้รับความเสียหายเนื้อที่รวม 1,743 ไร่ เกษตรกรจำนวน 128 ราย โดยมีคณะกรรมการเข้าไปสำรวจความเสียหายของชาวบ้านที่ประสบภัยในส่วนที่จะต้องจ่ายเงินเยียวยา

จากที่สำรวจผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 126 ราย เนื้อที่รวม 1,266 ไร่ ทั้งหมดเป็นที่นาข้าว คาดว่าการจ่ายเงินจะเริ่มได้ในเดือน ก.ค. โดยใช้งบฉุกเฉินของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

ขณะที่ พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผบช.ภ.5 กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ระดมกำลังพลมาปฏิบัติภารกิจครั้งนี้รวม 922 นาย โดยมีอุปกรณ์ เช่น เฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ รถยาพยาบาล 7 คัน รถยนต์ 144 คัน สำหรับการรักษาความปลอดภัย ทางการจราจร ต้องอำนวยความสะดวกในการทำงานทุกฝ่ายรวมทั้งรถสัญจร รถสื่อ รถหิน รถปั่นไฟ ฯลฯ พร้อมจุดคัดกรองภายในและนอกพื้นที่ ส่วนด้านอาชญากรรมป้องกันทรัพย์สินเกิด 3 เหตุการณ์ ดำเนินคดีไป 2 ราย และตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ได้เฝ้าระวังสิ่งของในการลำเลียงกลับไม่ให้เกิดความเสียหาย

“ครั้งนี้มี 15 ชาติ รวม 97 คนเข้ามาช่วยเหลือ เราจัดตำรวจ สตม.ดูแลประสานงาน พร้อมล่าม ตั้งแต่ปฏิบัติงานจนส่งถึงที่พักทุกวัน ทั้งหมดถือเป็นอาคันตุกะ ต้องดูแลอย่างดีไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น จนทั้งหมดเดินทางกลับสู่ประเทศ” พล.ต.ต.ชูรัตน์ กล่าว