posttoday

ชวนไปเดินเตร่ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ พระนคร...สนุกนะ

16 ตุลาคม 2553

วันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) ปีนี้ สหประชาชาติกำหนดหัวข้อหลักคือ “Better City Better Life” เมืองที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในประเทศไทย คือ“เตร่ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ พระนคร ครั้งที่ 1” ซึ่งจัดโดย 6 ชุมชน เครือข่ายฟื้นฟูชุมชนเมืองเชิงอนุรักษ์ย่านป้อมปราบฯ-พระนครนั่นเอง

วันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) ปีนี้ สหประชาชาติกำหนดหัวข้อหลักคือ “Better City Better Life” เมืองที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในประเทศไทย คือ“เตร่ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ พระนคร ครั้งที่ 1” ซึ่งจัดโดย 6 ชุมชน เครือข่ายฟื้นฟูชุมชนเมืองเชิงอนุรักษ์ย่านป้อมปราบฯ-พระนครนั่นเอง

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ

 

ชวนไปเดินเตร่ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ พระนคร...สนุกนะ

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมกับชุมชนบนพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินฯ รวมกลุ่มกันสร้างเครือข่าย “ฟื้นฟูชุมชนเมืองอนุรักษ์ย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย-พระนคร” กระบวนการทำงานที่เริ่มจากคนในชุมชน ฟื้นฟูชุมชนย่านประวัติศาสตร์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และสถาปัตยกรรมอาคารอนุรักษ์ เสริมการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
ไปตามคำเชิญ เดินเที่ยวลัดเลาะ เตร็ดเตร่ไปตามตรอกซอกซอยย่านพระนคร ชมเมืองและชมผู้คนพลบ้าน อันได้แก่ ชุมชมวังกรม พระสมมตอมรพันธ์ ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนวัดสระเกศ ชุมชนสิตาราม ชุมชนจักรพรรดิคุณลุงพงษ์ และชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน(เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย) เดินแล้วต้องบอกว่าเหนื่อย แต่หลังจากเช็ดเหงื่อ ดื่มน้ำดื่มท่า ก็ต้องสารภาพว่าสนุกดี  แต่ละชุมชน จัดกิจกรรมต้อนรับขับสู้ สะท้อนการใช้ชีวิต อันเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิม เริ่มด้วยการแวะเวียนไปดูสถาปัตยกรรมเก่าแก่ วังกรมพระสมมตอมรพันธ์ หรือพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ พระโอรสในรัชกาลที่ 4 ต้นราชสกุลสวัสดิกุล ณ อยุธยา ตัววังสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวบ้านในชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ ทำอาชีพเย็บผ้าเหลืองเป็นจีวรสบงและขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ตาลปัตรใบลาน ถือเป็นย่านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่ใหญ่และครบวงจรที่สุด

เดินเลาะไปต่อที่ชุมชนบ้านบาตร ได้เจอกับรำวงบ้านบาตร ที่นำมารื้อฟื้นเป็นที่สนุกสนาน ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณลุงสุรีย์ แสงทองคำ คุณลุงอายุ 72 ปีแล้ว ทำบาตรมาตั้งแต่สมัยพ่อ (ประมุข แสงทองคำ) จากบาตรใบละ 10 บาท เดี๋ยวนี้ใบละสามพัน คุณลุงว่าไม่คุ้มเหนื่อย เพราะงานทำบาตรนั้นหนักมากจริง ๆ นั่งคุยและนั่งฟังคุณลุงเล่าเรื่องราว ท่ามกลางเสียงตอกบาตรดังเป๊งๆๆๆๆ คุณลุงบอกคนทำบาตรหูไม่ดีหรอก หูตึ๊งงงง...(ทำท่าตะโกน)

“ชุมชนมั่นคงในความคิดของผม คนในบ้านต้องมั่นคงก่อน คนในบ้านมั่นคง คนในชุมชนก็มั่นคง ส่วนจะยึดเหนี่ยวกันไว้ด้วยอะไร ก็ไม่เป็นไร เพราะแต่ละชุมชนเขาก็มีชีวิต มีลมหายใจเป็นของตัวเอง อย่างบ้านบาตรเรานี้ ก็มีอาชีพที่ยึดพวกเราไว้ด้วยกัน อาชีพบาตรทำมือที่ปัจจุบันเหลือแค่ 5 ครอบครัวเท่านั้นที่ยังทำอยู่ ลมหายใจแผ่ว ๆ แล้ว แต่ก็เป็นความสุขตามวิถีบ้านเราแบบนี้”คุณลุงสุรีย์เล่า

เดินออกจากซอยบ้านบาตร เลี้ยวขวา ตรงขึ้นมาที่แยกแม้นศรี ก่อนถึงแยก เลี้ยวเข้าตรอกเซี่ยงไฮ้ ไปพบอากงบักซ้ง แซ่ตั้ง อากงอายุ 80 ปีแล้ว เป็นอากงผอม ๆ ที่ใจดี ยิ้มแย้มต้อนรับ บ้านของอากงคือห้องแถวไม้คูหาเดียว จากทั้งหมด 10 คูหา บ้านของอากงเป็นหลังเดียวที่คงรูปแบบเดิมของห้องแถวไม้สมัยเมื่อ 100 ปีก่อนไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

อากงเล่าว่า ซื้อบ้านหลังนี้ด้วยเงิน 3 หมื่นบ้าน สมัยก่อนพื้นบ้านเป็นดิน ห้องแถวมีแค่ชั้นเดียว ต่อมาต่อเติมชั้น 2 ค่อย ๆ ต่อ ค่อย ๆ เติม อาศัยว่าอากงเป็นช่างไม้(ทำเฟอร์นิเจอร์) เพราะฉะนั้นก็ทำด้วยมืออากงเองทั้งหมด ตอนนี้เพื่อนรุ่นเดียวกันเสียชีวิตและจากไปหมดแล้ว เหลือรุ่นแรกที่บุกเบิกตรอกเซี่ยงไฮ้คืออากงบักซ้งเพียงคนเดียว ชื่อตรอกเซี่ยงไฮ้มาจากคนจีนเซี่ยงไฮ้โพ้นทะเล ที่มาตั้งรกรากที่นี่ ซอยนี้ยังเป็นแหล่งทำโลงศพฝืมือดีมีชื่อ

แม้จะเหนื่อยมาก แต่ไกด์ที่พาเดินชมบอกว่า จะต้องไปที่ชุมชนสิตารามให้ได้ กลั้นอกกลั้นใจเดินตามไป จึงได้พบกับโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปีที่วัดสิตาราม พระครูสังฆรักษ์นิกร ฐาวโร รองเจ้าอาวาส เล่าให้ฟังว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 มาเสร็จลงในรัชกาลที่ 3 เมื่อแรกพระประธานในโบสถ์คือหลวงทองกายสิทธิ์ ซึ่งรัชกาลที่ 3 พระราชทานให้ประดิษฐานขึ้น (ต่อมาได้ย้ายไปประดิษฐานที่โบสถ์ใหม่)

“ที่นี่เป็นคอกหมู จึงมีชื่อเดิมว่าวัดคอกหมู เจ้าของที่ดินคือเจ้ากรมแย้ม ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามให้ใหม่ว่าวัดสิตาราม สิตะแปลว่ายิ้มแย้ม เพื่อให้รับกับชื่อเจ้าของที่ดิน”

ชวนไปเดินเตร่ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ พระนคร...สนุกนะ

สรุปที่รองเจ้าอาวาสวัดสิตารามซึ่งกล่าวว่า ชุมชนจะมั่นคงเข้มแข็ง และเป็นตัวของตัวได้ ก็ด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูลของ 3 ฝ่ายคือ วัด ชุมชน และรัฐที่สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อเดินไปด้วยกันทั้ง 3 ส่วนก็เหมือนคน 3 คนที่เดินไปพร้อมกัน ย่อมแข็งแรงและมั่นคงกว่ายืนหรือเดินไปตัวคนเดียว ท่ามกลางกระแสความรวดเร็วของการพัฒนาเมืองในโลกทุนนิยม ชุมชนไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ค่อย ๆ เดินไปอย่างมีหลัก มีราก จะดีกว่า

เพื่อน ๆ ที่สนใจ ก็ตามไปเดินเตร็ดเดินเตร่ด้วยกันได้  ยังมีกิจกรรมสาธิตอาชีพ แม่ไม้มวยไทย กระบี่กระบอง โขน(ตอนจับนาง) เดี่ยวระนาดเอก รำซัด ละครชาตรี (คณะครูพูน เรืองนนท์ ฉบับแท้แน่นอน) ไปฟังเพลงรำวงบ้านบาตร ไปช็อปไปชิมสินค้าอาหารมากมาย ตั้งแต่วันนี้-16 พ.ย.นี้ 8.00-17.00 น. ชุมชนทั้ง 6 จะเปิดบ้านเปิดรั้วให้เดินเที่ยวเลี้ยวเล่นอย่างเต็มที่ จะมีสูจิบัตรแนะนำสถานที่ต่าง ๆ แจกให้ด้วย โทร.089-777-0541