posttoday

ผญบ.และกรรมการวัดฤๅษีสำราญต้านกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเจดีย์โบราณ

15 พฤษภาคม 2561

อุตรดิตถ์-ผู้ใหญ่บ้านและกรรมการวัดฤๅษีสำราญยันไม่ให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเจดีย์โบราณ หวั่นแตะต้องไม่ได้ แต่ขอแค่คำปรึกษา เพื่อบูรณะเอง

อุตรดิตถ์-ผู้ใหญ่บ้านและกรรมการวัดฤๅษีสำราญยันไม่ให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเจดีย์โบราณ หวั่นแตะต้องไม่ได้ แต่ขอแค่คำปรึกษา เพื่อบูรณะเอง

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พระวรัญญู ตปสีโล เจ้าอาวาสวัดฤๅษีสำราญ บ้านป่าเผือก หมู่ 1 ต.ทุ้งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ พร้อมนายพิชิต โพทับ ผู้ใหญ่บ้านป่าเผือก เดินสำรวจความเสียหายที่เกิดกับเจดีโบราณในวัด หลังมติของเจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้านและกรรมการวัดฤๅษีสำราญจะบูรณะเจดีย์โบราณในวัดเอง เนื่องจากมีสภาพพังเสียหาย อิฐและศิลาแลงที่เป็นตัวเจดีย์แตก พังทลายลงมากองอยู่กับพื้นจนแทบจะมองไม่เห็นสภาพเป็นเจดีย์

จากประวัติที่นายสุเวทย์ ไพจิตกุญชร อดีตครูใหญ่ 5 โรงเรียนศิลปศาสตร์วิทยา ต.ทุ้งยั้ง พบและเขียนบันทึกประวัติของวัดฤๅษีสำราญไว้ว่า เจดีย์โบราญดังกล่าวมีเกิดขึ้นพร้อมกับวัดเมื่อปี 2469 หรือ 92ปีก่อน แต่เจออยู่ในสภาพเก่ารูปทรงคล้ายกับจอมปลวก ฐานล่างสุดทั้ง 4 ด้านยาว 14 เมตร และสูง 4 เมตร แต่รูปทรงของเจดีย์โบราญก่อนที่จะพบครั้งแรกจะเป็นอย่างไร จะมียอดแหลม หรือทรงสูงกว่านี้ ไม่สามารถระบุได้

นายพิชิต กล่าวว่า เดิมที่ประชุมมีมติจะทำการปรับปรุงเอง โดยนำก้อนอิฐและศิลาแลงที่พังทลาย หรือกระจัดกระจายอยู่บริเวณโดยรอบนำมาเรียงใหม่ให้สามารถมองเห็นเป็นเจดีย์ ส่วนโดยรอยจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยการนำก้อนศิลาแลงจากที่อื่นมาปูเชื่อมกับลานด้านหลังของประอุโบสถ์ แต่การปรับปรุงครั้งนี้ก็เกรงว่า จะทำผิดจารีตหรือความเชื่อของคนเก่าคนแก่ เพราะหากทำพิธีไม่ถูกต้องเกรงจะเกิดเรื่องไม่ดีหรือสิ่งอาเพศขึ้นในหมู่บ้าน จึงจะเชิญเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง นายอำเภอลับแล วัฒนธรรมจังหวัด และกรมศิลปากร ภาค 5 จ.สุโขทัย มาประชุมหารือกับกรรมการวัดอีกครั้ง โดยจะขอให้กรมศิลปากร ภาค 5 มาตรวจสอบที่มาที่ไปของเจดีย์ว่า สร้างสมัยใด รูปทรงที่แท้จริงเป็นอย่างไร แนะนำพิธีเริ่มก่อนที่จะมีการการปรับปรุงเพื่อไม่ให้ผิดไปจากการปฏิบัติที่เคยมีมาในหลาย ๆ แห่ง

“สิ่งที่กรรมการวัดฤๅษีสำราญหวั่นใจคือ หลังจากกรมศิลปากร ภาค 5 มาดูเจดีย์โบราญแล้วจะขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของกรมศิลปากร เพราะหากขึ้นทะเบียนแล้วจะไม่สามารถทำอะไรได้กับเจดีย์โบราญ เพราะวัดหรือสิ่งโบราญหลายแห่งถูกขึ้นทะเบียนแล้วกรมศิลปากรก็ไม่หางบประมาณมาพัฒนาปล่อยให้พังเสียหายจนไม่สามารถปรับปรุงได้ เช่นเดียวกันกับเจดีย์โบราณของวัดฤๅษีสำราญ หากถูกขึ้นทะเบียนแล้ว วัดก็จะไม่สามารถเข้าไปปรับปรุงหรือพัฒนาได้ การเชิญให้กรมศิลปากร ภาค 5 เข้ามาดูแลนั้น ก็เพียงแค่ให้คำแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร รูปแบบทรงของเจดีย์เป็นอย่างไร จากนั้นวัดก็จะทำการหางบประมาณมาทำการปรับปรุงเอง” นายพิชิต กล่าว

ผญบ.และกรรมการวัดฤๅษีสำราญต้านกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเจดีย์โบราณ