posttoday

เริ่มทดลองใช้ตาข่ายป้องกันฉลามที่หาดทรายน้อยหัวหินแล้ว

25 เมษายน 2561

ประจวบคีรีขันธ์เริ่มทดลองติดตั้งแนวทุ่นในพื้นที่เล่นน้ำเพื่อป้องกันปลาฉลามที่หาดทรายน้อยหัวหินแล้ว

ประจวบคีรีขันธ์เริ่มทดลองติดตั้งแนวทุ่นในพื้นที่เล่นน้ำเพื่อป้องกันปลาฉลามที่หาดทรายน้อยหัวหินแล้ว

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผอ.สำนักงานบริหารพื้นที่จัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี พร้อมด้วย นายวรรณ ชาตรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ ฯลฯ ได้เดินทางลงพื้นที่บริเวณหาดทรายน้อย บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำการติดตั้งทุ่นไข่ปลา เพื่อเป็นแนวในการติดตั้งตาข่ายที่ผลิตด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สีดำ ซึ่งเป็นใยที่มีความแข็งแรง เนื้ออวนกระด้างไม่ติดตัวสัตว์น้ำ ขนาดตาอวน 2.5 นิ้ว กั้นปลาฉลาม และพื้นที่เล่นน้ำสำหรับนักท่องเที่ยว เป็นแห่งแรกของประเทศไทยโดยตาข่ายกั้นฉลามดังกล่าวนั้นพร้อมติดตั้งราวต้นเดือนพ.ค.นี้

สำหรับการทดลองติดตั้งทุ่นไข่ปลาในวันนี้ พล.ต.สุเทพ นพวิง ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ได้ส่งกำลังพลจากศูนย์การทหารราบ เข้าร่วมดำเนินการร่วมทำการติดตั้ง โดยมีนายปราโมทย์ สุวรรณชาติ ประธานกลุ่มชาวประมงเรือเล็กบ้านเขาเต่า นำเรือประมงเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ติดตั้งแนวทุ่นไข่ปลาในครั้งนี้ด้วย

เจ้าหน้าที่ได้อธิบายว่ายังไม่มีอวนตาข่ายกั้นฉลาม การดำเนินการในครั้งนี้เป็นเพียงการจำลองจุดติดตั้งเพื่อหาความเหมาะสมและให้เกิดความพร้อมสำหรับการติดตั้งทุ่นตาข่ายกั้นฉลามของจริงเท่านั้น ซึ่งนักท่องเที่ยวก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดี

นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผอ.สำนักงานบริหารพื้นที่จัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี กล่าวว่า การติดตั้งแนวทุ่นไข่ปลาจำลองจุดในครั้งนี้ ไม่พบอุปสรรคใดๆในการดำเนินการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เบื้องต้นแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้วางแนวทุ่นไข่ปลาพร้อมฐานยึด โดยยื่นเป็นแขนไปในทะเลข้างละ 60 เมตร วางยาวขนานไปกับแนวชายหาด 200 เมตร ที่ระดับความลึกของน้ำประมาณ 3เมตร เพื่อหาพิกัดหรือจุดในการติดตั้งที่เหมาะสม โดยเว้นแนวโขดหินทั้งด้านซ้ายและขวาไว้เพื่อไม่ให้รบกวนเส้นทางหากินของฉลามหัวบาตร

ทั้งนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนชาวบ้านเขาเต่า ชาวบ้านหาดทรายน้อย และใกล้เคียง ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า เพื่อนำข้อมูลและความคิดเห็นของประชาชนมาปรับความเหมาะสมของทุ่นตาข่ายกั้นฉลามของจริง โดยจะเน้นที่ประชาชนหรือชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ นักท่องเที่ยวได้รับประโยชน์คือสามารถเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย และที่สำคัญจะต้องไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตการหากินตามธรรมชาติของฉลามหัวบาตรด้วย