posttoday

‘พะเยาโปรดักส์’ ผนึกกำลังชุมชน จากฐานรากสู่ระดับโลก

18 กุมภาพันธ์ 2561

ผลิตภัณฑ์จากชุมชน ของดีประจำถิ่น สินค้าผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพนั้นมีเป็นจำนวนมาก

โดย อักษรา ปิ่นนราสกุล

ผลิตภัณฑ์จากชุมชน ของดีประจำถิ่น สินค้าผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพนั้นมีเป็นจำนวนมาก จากโครงการหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หรือ OTOP ในอดีต ซึ่งมีมากกว่า 7,000 ชนิด แต่บทเรียนประสบการณ์ของผู้ประกอบการโอท็อปในช่วงกว่า 15 ปีที่ผ่านมา พวกเขาพบว่า การพัฒนาในผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก มีตลาดกว้างขวางแพร่หลายนั้น เป็นศาสตร์สำคัญที่พวกเขามีความรู้อยู่น้อยมาก

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของผู้ผลิตสินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นใน จ.พะเยา เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์จากฐานรากระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน ได้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ภายใต้โครงการ “พะเยาโปรดักส์”

สิ่งที่น่าสนใจ มิใช่เพียงความท้าทาย ที่จะนำผลิตภัณฑ์จากฐานรากเหล่านี้สู่ตลาดที่กว้างขวางขึ้นในต่างประเทศเท่านั้น แต่ในระหว่างทาง การดำเนินงานจะเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า ที่ช่วยให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว การเกิดขึ้นของการรวมตัวด้วยแนวคิดเช่นนี้ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ภูทรัพย์ ศุภนาถเกรียงไกร ประธานเครือข่ายพะเยาโปรดักส์ บอกว่า การเดินทางต่อสู้ของกลุ่มผู้ผลิตที่เรียกว่า โอท็อป หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ชุมชน มีโอกาสที่จะก้าวสู่ตลาดระดับกลางและบนได้ไม่ยาก แต่เป็นไปได้น้อย เพราะเป็นการเติบโตที่ผู้ผลิตต้องได้รับการพึ่งพาจากภาครัฐ

“ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าบางครั้งนโยบายหรือแผนงานของภาครัฐ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุน ให้ความรู้ ยกระดับ แต่เมื่อจังหวะหนึ่งหน่วยงานภาครัฐถอยหรือวางมือ ภาคการผลิตก็จะนำพาผลิตภัณฑ์สู่ตลาดได้ลำบาก เนื่องจากผู้ผลิตไม่มีความชำนาญเรื่องการตลาด ทั้งช่องทางการตลาด งบประมาณ การขอมาตรฐานรับรองการผลิต เช่น อย. รวมทั้งความคิดที่จะเติบโตเป็นเถ้าแก่ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง ปัจจัยเหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ผลิตหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ชุมชน โอท็อป ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ก้าวสู่ตลาดระดับสากลได้ยาก”

‘พะเยาโปรดักส์’ ผนึกกำลังชุมชน จากฐานรากสู่ระดับโลก

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นที่มาของ “พะเยาโปรดักส์” ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปและผลิตภัณฑ์ชุมชน ในนามเครือข่ายพะเยาโปรดักส์ โดยมีวัตถุประสงค์การรวมตัวเพื่อ 1.สร้างเครือข่ายผู้ผลิตที่เข้มแข็งให้แก่ผู้ผลิตสินค้าโอท็อปและสินค้าชุมชน 2.เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสามารถขึ้นชั้นเป็นสินค้าในแบรนด์พะเยาโปรดักส์ก้าวสู่ตลาดระดับประเทศอย่างภาคภูมิ และ 3.ยกระดับผลิตภัณฑ์ ในนามพะเยาโปรดักส์ให้มีความทันสมัยมีมาตรฐานสากลก้าวสู่ตลาดโลกได้

การเริ่มต้นแม้จะไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากที่จะลงมืออย่างทุ่มเทและตั้งใจจริง ภูทรัพย์บอกว่าขณะนี้มีสมาชิกในเครือข่ายประมาณ 50 ราย ที่กำลังรวมตัวกันจะก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจ เพื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลพะเยาโปรดักส์ โดยมีการระดมทุนลงหุ้นหุ้นละ 100 บาท
รายละไม่เกิน 100 หุ้น ขณะนี้ยอดการลงหุ้นเพื่อร่วมทุนของสมาชิกในรอบแรกประมาณ 10 แสนบาท แล้ว

“จากนั้นจะมีการประชุมเพื่อสรรหาบอร์ด หรือคณะกรรมการบริหารกลุ่ม โดยการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อวางระบบการบริหารคล้ายองค์กร หรือบริษัท มีฝ่ายงานรับผิดชอบที่ชัดเจน ทั้งด้านการตลาด ฝ่ายทะเบียน ผู้ดูแลประสานงานเรื่องผลิตภัณฑ์ ระบบออนไลน์ทุกช่องทาง โดยกลุ่มผู้ผลิตทั้งโอท็อป ผู้ผลิตรายย่อย หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาร่วมงาน ทำหน้าที่ผลิตไปและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเองและกลุ่มให้สู่ระดับสากลให้ได้”

ขณะที่ภาครัฐ หน่วยงานราชการ คือส่วนสำคัญอีกด้านหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเหลือในบทบาทหน้าที่ของผู้สนับสนุน ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และความรู้ที่เหมาะสมแก่เครือข่ายพะเยาโปรดักส์”

การทำงานต้องมีเป้าหมาย “ภูทรัพย์” ได้วางแผนไว้เบื้องต้นว่า หลังจากมีการจัดตั้งกลุ่มพะเยาโปรดักส์อย่างเป็นทางการแล้ว เป้าหมายที่วางไว้คือ ภายใน 6 เดือน จะต้องยืนได้ด้วยตนเอง ภายในเวลา 1 ปี การบริหารกลุ่มเริ่มทำกำไร 10% ภายใน 2 ปี ขยายเครือโปรดักส์ไปในระดับภาค (โซนภาคเหนือตอนบน) และในเวลา 3 ปี จะต้องนำพาผลิตภัณฑ์ก้าวสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียน

‘พะเยาโปรดักส์’ ผนึกกำลังชุมชน จากฐานรากสู่ระดับโลก

 

“เหนืออื่นใดสิ่งที่จะทำให้กลุ่มพะเยาโปรดักส์เติบโตอย่างมั่นคงและเข้มแข็ง คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความมั่นใจ ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อพะเยาโปรดักส์ ไม่นำเรื่อง ถ้อยคำ หรือคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์มาเป็นประเด็น แต่เราจะให้กำลังใจกันด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยมีการตั้งกลุ่มไลน์พะเยาโปรดักส์ขึ้น เพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้แลกเปลี่ยนกันอย่างเหนียวแน่น จากนั้นจะมีห้องไลน์เฉพาะผลิตภัณฑ์ เนื่องจากมีสมาชิกที่ต้องการผลิตภัณฑ์แตกต่างกันจะสามารถสั่งตรงต่อผู้ผลิตได้ง่ายขึ้น”

ภูทรัพย์ บอกว่า การรวมตัวกันเปิดพื้นที่สำหรับสินค้าโอท็อป สินค้าชุมชน เช่น ในหมู่บ้านหรือชุมชนท่องเที่ยว ห้างร้านที่มีพื้นที่สำหรับสินค้าชุมชน สินค้าโอท็อป เมื่อต่างฝ่ายได้มาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน นำข้ออ่อนด้อยมาพัฒนาให้เป็นจุดแข็ง ใช้จุดแข็งสร้างศักยภาพให้เติบโต จะทำให้พะเยาโปรดักส์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแก่สาธารณมากขึ้น

จุดเริ่มต้นซึ่งน่าชื่นชมและสนับสนุน ผลจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าติดตาม