posttoday

ปิดตัวนักสะสม"ย่าม"ตัวยงสะสมนับหมื่นใบ

13 กุมภาพันธ์ 2561

สุโขทัย-ความชอบส่วนตัว ผู้จัดการโรงแรมดังสุโขทัยสะสมย่ามร่วมหมื่นใบ“เก่าสุด 200 ปี-ใบเดียวในโลก”ลั่นขอซื้อใบละ 1 ล้านก็ไม่ขาย

สุโขทัย-ความชอบส่วนตัว ผู้จัดการโรงแรมดังสุโขทัยสะสมย่ามร่วมหมื่นใบ“เก่าสุด 200 ปี-ใบเดียวในโลก”ลั่นขอซื้อใบละ 1 ล้านก็ไม่ขาย

ที่ จ.สุโขทัย มีผู้จัดการโรงแรมชื่อดังคนหนึ่ง เป็นนักสะสมย่ามตัวยงจนได้รับฉายาว่า “นักเลงย่าม” โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเก็บสะสมย่าม หรือถุงผ้าสำหรับสะพายใช้ประโยชน์สารพัด ทั้งใหม่และเก่าโบราณ รวมทั้งหมดประมาณ 10,000 กว่าใบ ซึ่งมีทั้งหาซื้อมาเก็บ และผู้ใหญ่ที่เคารพให้มาสะสมเป็นที่ระลึก กระทั่งปัจจุบันได้มีการใช้บ้านพัก เรียกว่า “บ้านมะขวิด” ตั้งอยู่เลขที่ 214/5 หมู่ 2 ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องย่าม

นายมานพ  ยังประเสริฐ อายุ 53 ปี นักเลงย่ามคนดังกล่าว เปิดเผยว่า ชื่นชอบย่ามสะพายมาตั้งแต่เด็กแล้ว และเริ่มสะสมมาตั้งแต่ยังวัยรุ่น เจอที่ไหนซื้อที่นั่น ทั้งราคาถูกและแพง มียี่ห้อหรือไม่มีก็ซื้อเก็บหมด พร้อมกับศึกษาวัฒนธรรมความเป็นมาของย่ามแต่ละใบ แต่ละท้องถิ่นไปด้วย รวมทั้งมีผู้ใหญ่ที่เคารพมอบให้ จนปัจจุบันมีเก็บสะสมทั้งหมดกว่า 10,000 ใบ โดยแต่ละใบจะมีเรื่องเล่า ให้เรารู้ถึงประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่สอดแทรกอยู่ในลวดลายที่ปักบนเนื้อผ้า อย่างเช่น ถุงย่ามของลาวคลั่ง อายุร้อยกว่าปี ผู้ใหญ่ใจดีให้มา แต่มีคนมาขอซื้อต่อในราคาคู่ละ 40,000 บาท ไม่ได้ขาย เพราะในเมืองไทยคงมีเหลือไม่กี่ใบ และถุงย่ามของชาติพันธุ์ลาวคลั่งนี้ ก็ทำให้เราเห็นประเพณีสมัยก่อนของพวกเขา ซึ่งเวลาจะแต่งงานกัน คู่บ่าวสาวจะต้องทำย่ามมอบให้กันและกันด้วย

นายมานพยังได้โชว์ถุงย่ามของชนเผ่าปกาเกอะญอ อายุเกือบร้อยปี และถุงย่ามของ “ไทยวนคูบัว” ราคา 15,000 บาท ที่ซื้อมาเพราะต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนในการทำย่ามที่สุโขทัย และ “ย่ามยกไหมทอง” ที่ทอยกด้วยไหมทองจากอินเดีย ลงบนพื้นแบบ 3 ตะกรอ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ มีใบเดียวในโลก เคยมีคนมาขอซื้อต่อหลายหมื่นบาทแต่ไม่ขาย ส่วนใบที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุร่วม 200 ปี เป็นย่ามหรือถุงแดงของไทพวนบ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งคุณลุงสาธร เจ้าของสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ ได้มอบให้เป็นที่ระลึก เพื่อเก็บเอาไว้เรียนรู้

“ย่ามแต่ละใบมีชีวิต มีเรื่องเล่า และมีเรื่องราว คงตีราคาเป็นเงินไม่ได้ และไม่เคยคิดขาย โดยเฉพาะย่ามที่ผู้ใหญ่ที่เคารพมอบให้มา แม้เงิน 1 ล้านบาทก็ซื้อไม่ได้ และทุกวันนี้ก็มีความภูมิใจ จากการที่ได้สะสมย่าม ทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนมีรายได้ จากการส่งเสริม อนุรักษ์ และทำการตลาดควบคู่ไปพร้อมกัน”