posttoday

หนึ่งเดียวในตรัง!ช่างทำกริชคนสุดท้ายของจังหวัด

08 กุมภาพันธ์ 2561

ตรัง-เปิดตัวคุณลุงประสิทธิ์ผู้สืบทอดอาชีพทำกริชอาวุธมงคลของชาวไทยมาลายูหาได้ยากแล้วในยุคปัจจุบันเผยมียอดสั่งซื้อเพียบจนผลิตไม่ทัน

ตรัง-เปิดตัวคุณลุงประสิทธิ์ผู้สืบทอดอาชีพทำกริชอาวุธมงคลของชาวไทยมาลายูหาได้ยากแล้วในยุคปัจจุบันเผยมียอดสั่งซื้อเพียบจนผลิตไม่ทัน

นายประสิทธิ์ มลิทอง อายุ 60 ปี หรือคุณลุงประสิทธิ์  ชาวบ้านหมู่ที่  8  บ้านโคกโดน ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองตรัง  ถือเป็นช่างทำกริชคนสุดท้ายของจังหวัด ที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาชนิดนี้มายาวนานเกือบ40 ปี หลังจากได้ไปเรียนวิชาชีพนี้มาจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (พระนครศรีอยุธยา) เมื่อพ.ศ.2515  ตลอดจนยังมีโอกาสเข้าเฝ้า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9  ซึ่งพระองค์ได้ทรงตรัสให้ตั้งใจนำวิชาชีพที่เรียนรู้ไปทำงาน เพื่อสร้างตัวเอง สร้างครอบครัว นั่นคือแรงบันดาลใจให้เขากลับมายังบ้านเกิด เพื่อเปิดร้านทำกริช รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้โลหะชนิดต่างๆ เช่น หอก เคียว ดาบ มีด จนสามารถสร้างรายได้ให้เดือนละ 2-3 หมื่นบาท และต่อมาเมื่อปี 2547 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง ได้มอบประกาศนีบัตรยกย่อง ในฐานะผู้ให้การส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญาไทย

กริชในสมัยโบราณ ถือเป็นอาวุธมงคลของชาวไทยบริเวณคาบสมุทรมาลายู ที่สามารถขจัดภัยอันตรายและสิ่งอัปมงคล หรือนำโชควาสนามาให้กับผู้ครอบครอง  โดยกริชเล่มหนึ่งๆ จะประกอบขึ้นจากการนำเหล็กหลายชนิดมาหลอมรวมกันด้วยกระบวนการ และพิธีกรรมที่ถูกต้อง  ปลายกริชต้องมีความแหลมคมประดุลดังเขี้ยวเสือ  มีความคดและพลิ้วไหวเหมือนเปลวไฟ  ซึ่งแสดงถึงความกล้าหาญและความมีอำนาจ  ดังนั้น ช่างตีกริชแต่ละคนจึงมีต้องมีฝีมือและวิชาพอตัว

ทั้งนี้ กริชจะมีลักษณะคด หรือหยักเป็นลอนคลื่น  ตั้งแต่ 3-9  หยัก และจะต้องเป็นเลขคี่เสมอ ตามความเชื่อที่ว่า3 หยักจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง 5  หยักจะเป็นที่รักของคนอื่น 7  หยักจะมีเกียรติ และ 9  หยักจะมีพรสวรรค์และมีภาวะความเป็นผู้นำ  แต่ส่วนใหญ่มักจะนิยมกริช 9 หยัก เนื่องจากเหมาะต่อการนำไปใช้ในพิธีกรรม หรือครูหมอ ตามความเชื่อของชาวปักษ์ใต้

สำหรับกริชของคุณลุงประสิทธิ์ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่จังหวัดตรัง แต่ยังคงรูปแบบโบราณเอาไว้อย่างครบถ้วน  เพียงแค่ดัดแปลงในบางส่วน เช่น ด้าม เพื่อความสวยงาม จากเดิมที่มักจะเป็นหัวนก หัวไก่ หรือหัวหงษ์ มาเป็นหัวพยานาค และหัวหนุมานนั่นแท่น ซึ่งหมายถึงความมีชัยชนะ  ขณะที่ไม้ที่นำมาแกะสลักเป็นด้าม ก็มักจะใช้ไม้มงคลต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ครอบครอง โดยเฉพาะไม้ขนุน  ประกอบกับต้องใช้วิธีการที่พิถีพิถัน และมีขั้นตอนที่ค่อนข้างละเอียด จึงต้องใช้เวลาในการทำเล่มละ 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้กริชที่ออกมามีชีวิตและวิญญาณ  โดยมีราคาจำหน่ายเล่มละ 1,000-5,000 บาท ตามจำนวนหยักที่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มลูกค้าก็มีมาจากหลากหลายทั่วทุกภาค จนทำไม่ทันต่อความต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่หันมาสนใจกันมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข (065) 075-8493

หนึ่งเดียวในตรัง!ช่างทำกริชคนสุดท้ายของจังหวัด

หนึ่งเดียวในตรัง!ช่างทำกริชคนสุดท้ายของจังหวัด