posttoday

สถานการณ์มลพิษเมืองกรุงคลี่คลายแล้ว! ค่าฝุ่นละอองลดลงทุกพื้นที่

25 มกราคม 2561

กรมควบคุมมลพิษยอมรับ1สัปดาห์ที่ผ่านมามลพิษในเมืองกรุงเกินค่ามาตรฐานไป5วัน แต่วันนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว

กรมควบคุมมลพิษยอมรับ1สัปดาห์ที่ผ่านมามลพิษในเมืองกรุงเกินค่ามาตรฐานไป5วัน แต่วันนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว

เมื่อวันที่25ม.ค.นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ วานนี้ (24ม.ค.) ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงเกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร (มคก./ลบ.ม.) เนื่องด้วยสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ไม่มีแสงแดด และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก และไม่เกิดการระบาย ทำให้มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและมีผลกระทบต่อร่างกาย หลายๆ คนจึงอาจมีอาการระคายคอ หายใจไม่สะดวก

จากการตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 พบว่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้น บริเวณริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ตรวจวัดได้ 57 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะมีค่าพุ่งสูงในช่วงปลายหนาวต้นร้อนในช่วงปลายเดือนมกราคม จากสถิติตั้งแต่ปี 2558-2561 ก็มีค่าเกินมาตรฐานทุกปี แต่เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ซึ่งในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีค่าเกินมาตรฐาน 5 วัน ส่วนสถานการณ์มลพิษในวันนี้เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

“สำหรับเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีเพียงแค่ 5 จุดเท่านั้น ในเขตบางนา วังทองหลาง ริมถนนพระรามสี่ ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี และริมถนนลาดพร้าว ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปดูค่าฝุ่นละออง PM2.5 ใน 5 สถานีพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ http://aqmthai.com/public_report.php แล้วกดเข้าไปดูในแต่ละสถานีที่มีเครื่องตรวจวัดแล้วตลาอด 24 ชั่วโมง ส่วนการแสดงผลค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในภาพรวมนั้น คพ. อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบและติดตั้งเครื่องตรวจวัด อย่างไรก็ตามในปี 2561 คพ.เตรียมติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM2.5 อีก 20 เครื่อง และวางเป้าหมายว่าในปี 2563 จะติดตั้งให้ครบ 63 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมือง” นายเถลิงศักดิ์กล่าว

ส่วนค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน และไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากมีค่าเกินมาตรฐานย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นฝุ่นละอองที่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจจะเกาะตัวหรือตกตัวได้ในส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ เช่นเนื้อเยื่อปอด ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากหรือในช่วงเวลานาน จะสามารถสะสมในเนื้อเยื่อปอด เกิดเป็นผังผืดหรือแผลขึ้นได้ และทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลงทำให้หลอดลมอักเสบ เกิดหอบหืดถุงลมโป่งพอง และโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้

“การสังเกตว่าเป็นหมอกหรือควันนั้น หากเป็นหมอกจะมีสีขาว แต่หากมีฝุ่นละอองปนมาด้วยจะออกสีขาวปนน้ำตาล ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าเริ่มมีฝุ่นละอองก็ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญอากาศภายนอ” ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กล่าว