posttoday

จีนสยายปีกปลูกยาง ทั่วพื้นที่เส้นศูนย์สูตร

06 มกราคม 2561

จีนนั้นถือเป็นประเทศผู้รับซื้อยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก จากประชากรที่มากถึง 1,300 ล้านคน ซึ่งทำให้จีนมีนโยบายการปลูกยางพาราเองเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางพาราของตนเอง

โดย...อัสวิน ภฆวรรณ

จีนนั้นถือเป็นประเทศผู้รับซื้อยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก จากประชากรที่มากถึง 1,300 ล้านคน ซึ่งทำให้จีนมีนโยบายการปลูกยางพาราเองเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางพาราของตนเอง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ที่นอนยาง หมอนยาง

ผู้ส่งออกยางพาราของไทยรายหนึ่งเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท China Hinan Rubber Industry Croup Co.Ltd. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยางพาราของประเทศจีน ได้มีการเคลื่อนไหวที่จะร่วมทุนจัดตั้งบริษัทยางกับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย ทำธุรกิจซื้อขายยางระหว่างรัฐวิสาหกิจจีนกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางไทย ซึ่งมีเป้าหมายระยะแรกในพื้นที่ภาคเหนือ และถัดไปจะขยายไปสถาบันเกษตรยางภาคอีสาน

สำหรับการซื้อยางพาราที่ฝ่ายจีนได้เสนอมานั้นจะเป็นตามกลไกการตลาด แต่เกษตรกรชาวสวนยางพาราจะได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดเพิ่มขึ้นถึงกิโลกรัมละ 2-3 บาท ซึ่งทางเครือข่ายสถาบันเกษตรกรยางได้นำเรื่องนี้ขอปรึกษาหารือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติแล้ว

“เป้าหมายรัฐวิสาหกิจยางพาราของจีน ยังมีความต้องการผลผลิตยางพาราปีละ 4.5 ล้านตัน และภายในปี 2562 จะขยับเพิ่มเป็นปีละ 5 ล้านตัน ประเด็นสำคัญคือการที่จีนมียางใช้บริโภคเอง และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ครบวงจร จึงขอให้ไทยได้วางแผนรองรับเพื่อเตรียมรับมือ” 

วีระศักดิ์ สินธุวงศ์ กรรมการบริหารสภาเครือข่ายยางพารา และสถาบันเกษตรกรสวนยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ยืนยันว่าผู้ประกอบการยางพาราของไทยกับผู้ประกอบการยางพาราของจีนได้หารือกันแล้ว โดยฝ่ายจีนต้องการที่จะร่วมทุนกับสถาบันเกษตรกรยางพาราของไทย เพื่อซื้อขายยางพารากันโดยตรง เพราะรัฐวิสาหกิจของจีนต้องการผลผลิตยางพาราปีละ 4.5 ล้านตัน และในปี 2562 บริษัท ไหหน่าน รับเบอร์ รัฐวิสาหกิจยางพาราของจีน ได้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มการใช้ยางพาราเป็นปีละ 5 ล้านตัน

จีนสยายปีกปลูกยาง ทั่วพื้นที่เส้นศูนย์สูตร

 

จรินทร์ ธรรมดี รองประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย บอกว่ากลุ่มรัฐวิสาหกิจยางพาราของจีนได้มีนโยบายจะมีพื้นที่ปลูกเอง โดยมองไปยังพื้นที่ทำสัญญาระยะยาวได้ เนื่องจากจีนปลูกยางพาราไม่ได้ผลดี โดยภูมิศาสตร์ไม่เอื้ออำนวย จากสภาพอากาศหนาวเย็น หิมะตก จึงหันมาหาพื้นที่ปลูกยางในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร โดยขณะนี้ได้เข้าไปลงทุนปลูกยางแล้ว เช่น ในประเทศเมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยส่งเสริมให้ประชาชนชาวจีนออกนอกประเทศลงไปดูแลสวนยางเอง ซึ่งจะเป็นคนหนุ่มสาวที่มีคุณภาพ และมีความสามารถทำการค้าได้

“จีนมีนโยบายให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นไปสร้างตัวเอง ไปสร้างการค้าขายที่ต่างประเทศ คนหนุ่มสาวต่างเป็นคนเก่ง เขามีแผนเข้าพื้นที่เพื่อปลูกยาง เพราะจีนเป็นอุตสาหกรรมยางโลกแล้ว ผลิตยางเพื่อป้อนเข้าโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งขนาดเล็กสุดและใหญ่สุดนับร้อยโรงอยู่ในประเทศทั้งสิ้น จึงวางโครงการไม่ต้องเร่งร้อนซื้อยางจากต่างประเทศ” จรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานการประชุมคณะกรรมการการยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา  ระบุว่า จีนมีแนวโน้มนำเข้ายางจากประเทศไทยลดลงมาตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากมีการปลูกยางในประเทศซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มียางจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีเข้าสู่ตลาดมีสัดส่วนถึง 5.30% ของผลผลิตยางโลก และในขณะเดียวกันช่วงระยะปี 2557-2559 มีการส่งออกยางสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้นถึง 2.66% ปัจจัยจากที่ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามมีผลผลิตเพิ่มขึ้น และอีกทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา ก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ประเทศดังกล่าวได้เป็นผู้ผลิตยางรายใหม่ของโลก และได้ส่งออกยางเพิ่มขึ้นด้วย และในขณะเดียวกันทางประเทศจีนผู้นำเข้ายางรายใหญ่ของโลก และเป็นผู้ลงทุนปลูกยางเอง ได้นำเข้ายางจากประเทศดังกล่าวมากขึ้นตามลำดับ เพื่อสนองต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและเพื่อเป็นการลดต้นทุนทางด้านการผลิตของอุตสาหกรรมภายในประเทศของจีนอีกด้วย