posttoday

บทเรียนจากคีรีวง ชุมชนท่องเที่ยวแบบพอเพียง

19 พฤศจิกายน 2560

บ้านคีรีวงเป็นหมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในประเทศ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสายเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์

โดย...นุชจรี แรกรุ่น

ชุมชนคีรีวง สถานที่อากาศดีที่สุดในประเทศ หลังประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2531 ชาวบ้านในชุมชนฝ่าวิกฤตจนมาสู่สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของจังหวัด คนมากปัญหาก็ตามมาโดยเฉพาะเรื่องขยะต้องเร่งแก้ไขด่วน

บ้านคีรีวง อยู่ในเวิ้งหุบเขาของ ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2531 พร้อมกับเหตุการณ์ดินโคลนถล่มพื้นที่ ต.กะปูน อ.พิปูน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีความร้ายแรงจากน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม จนชาวบ้านต้องสังเวยชีวิตนับร้อยนับพันราย ส่วนผู้ที่รอดชีวิตต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาอย่างยาวนาน จนสามารถฝ่าวิกฤตร้ายในครั้งนั้นมาได้

บ้านคีรีวง หรือชุมชนคีรีวง คนในชุมชนได้ปลูกฝังให้รักถิ่นฐานบ้านเกิดแม้ในยามที่ลำบากก็ต้องต่อสู้ ล้มลุกคลุกคลานมาจนวันนี้ ทุกคนได้นำแนวทางของในหลวง ร.9 มาใช้ ตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง การก่อร่างสร้างเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมาใหม่ของหมู่บ้านคีรีวงก็ยังคงยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ขยายผลจากวัสดุในท้องถิ่น แปรรูป เปลี่ยนสภาพให้เกิดเป็นมูลค่า ซึ่งเป็นหัวใจของการฟื้นชุมชนคีรีวงจนเกิดผลประจักษ์ชัดจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น บ้านคีรีวงยังเป็นหมู่บ้านที่ดีที่สุดของประเทศ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสายเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ มาชมความงามของธรรมชาติที่สวยงาม ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 400-500 คน ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ จะมากขึ้นเท่าตัว จากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ทำให้มีปัญหาตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาขยะ ปัญหารถติด รวมทั้งปัญหาการใช้ชีวิตของชาวบ้านในชุมชนได้เปลี่ยนไปด้วย

ปัญหาที่ตามมากับนักท่องเที่ยวจำนวนมากทำให้ผู้ดูแลชุมชน คือ องค์การบริหารส่วนตำบลกำโลน ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการให้เข้ามาดูแลนักท่องเที่ยว คอยแนะนำเน้นย้ำเรื่องขยะ เศษอาหารต้องทิ้งให้เป็นที่เป็นทางรวมทั้งนักท่องเที่ยวอย่าเอาวิถีชีวิตภายนอกมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชน และขอให้เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมชุมชนว่าเขาอยู่กันอย่างไร

บทเรียนจากคีรีวง ชุมชนท่องเที่ยวแบบพอเพียง

นิพัฒน์ บุญเพ็ชร รองนายก อบต.กำโลน กล่าวว่า หลังประสบปัญหามีนักท่องเที่ยวเข้ามามากในช่วงเทศกาลทั้งวันสงกรานต์และปีใหม่ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะมาก ในปี 2559 คิดว่าเยอะแล้ว แต่พอเข้าปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอีก จึงเปิดศูนย์ดูแลการท่องเที่ยว มีคนในชุมชนเป็นคณะกรรมการดูแลชุมชน ผลกระทบที่รถมาจอดกีดขวางกับจราจร ร้านค้าที่ดูไม่เหมาะสมได้รื้อออก และได้ปรับแต่งภูมิทัศน์ ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดี

 

และในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์จะมีคนเข้ามามาก จะมีการบอกกล่าวให้ผู้ที่นำรถเข้ามาไม่ให้จอดที่บริเวณหน้าวัดคีรีวง เพราะรถติดมาก จึงพยายามกำหนดการจราจรให้ดีขึ้นโดยจัดลานจอดรถให้กับผู้ที่เดินทางเข้ามา ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จสามารถจอดรถได้ประมาณ 100 คัน โดยเฉพาะรถบัสนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาดูงานจะจัดให้จอดเป็นที่เป็นทางไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนคีรีวงในการจัดการการท่องเที่ยวด้วย

ส่วนเรื่องการจัดการด้านขยะมีบุคลากรของ อบต.กำโลน ซึ่งมีตารางการของเข้ามาทำความสะอาดทุกวัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาศึกษาดูงานจะมีการประชาสัมพันธ์ว่า หากนำขยะเข้ามาเท่าไร ก็ขอให้ใส่ถุงดำนำกลับไปด้วย โดยภายในชุมชนเราได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการร้านค้าเรื่องขยะบางส่วนที่แยกได้ และแยกไม่ได้ หรือขยะมีพิษ ซึ่งกำลังบริหารจัดการอยู่ เพราะมีผลกระทบเยอะมากกับนักท่องเที่ยว และสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว

บทเรียนจากคีรีวง ชุมชนท่องเที่ยวแบบพอเพียง

นิพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านคีรีวง มีรีสอร์ทอยู่ 5-6 แห่ง นอกจากนั้นเป็นโฮมสเตย์ของชมรมการท่องเที่ยวมีเป็น 100 หลัง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและรถยนต์ที่เข้ามาได้ ในส่วนเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวสามารถยืนยันได้ 100% มีคณะกรรมการของศูนย์ดูแลการท่องเที่ยว เน้นหนักเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ดูแลเรื่องราคาที่พักด้วย

 

ผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทย ส่วนแนวทางการพัฒนาต่อไป คือ ต้องการให้คีรีวงเป็นเมืองสวรรค์ เมืองที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้จัดทำแผนเสนอไปยัง อ.ลานสกาและจังหวัดต่อไป นอกจากนั้นยังมีแผนจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย เพราะหากปล่อยให้มามากจนเกินไปจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม

“การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว คือ กำหนดในเรื่องรถบัส หากมาวันละ 10 คัน จะลดให้เหลือ 5-6 คัน กลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนจะได้รองรับนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ และสิ่งที่จะฝากนักท่องเที่ยวคือ ขอให้เชื่อกฎระเบียบของชุมชน เข้ามาแล้วต้องรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีชุมชน รักษาวิถีชีวิตของชุมชนด้วย และเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ต้องร่วมกันรักษา มิเช่นนั้นหากสิ่งแวดล้อมไม่ดีคงไม่มีใครอยากมาอีก” พิพัฒน์ กล่าวในที่สุด