posttoday

มองอนาคตยางพารา ผ่านสายตาโบรกเกอร์

18 พฤศจิกายน 2560

ราคายางพาราที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดเดือดทำให้แกนนำชาวสวนยาง เดินทางเข้า กทม. เพื่อกดดัน รมว.เกษตรให้เปลี่ยนตัวผู้บริหาร กยท.

โดย...อัสวิน ภฆวรรณ

ราคายางพาราที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดเดือดที่ทำให้แกนนำชาวสวนยางพาราตัดสินใจที่จะเดินทางเข้า กทม. เพื่อกดดัน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้เปลี่ยนผู้บริหารและคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แต่การรวมตัวดังกล่าวก็ถูกระงับไปเสียก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวแกนนำในพื้นที่ต่างๆ ไปพูดคุยขอความร่วมมือมิให้มีการรวมตัว

แต่กระแสความไม่พอใจการบริหารงานที่ผิดพลาดของ กยท.ก็ยังอยู่ ที่สำคัญผู้เกี่ยวข้องในวงการยางต่างคาดหมายว่า ราคายางพาราไม่น่าที่จะทะยานกลับขึ้นไปสูงดังเช่นในอดีตอีกต่อไป

อดีตโบรกเกอร์ค้ายางพาราระหว่างประเทศรายหนึ่งใน จ.สงขลา เปิดเผยว่า ภาวะราคายางขณะนี้จะขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศเป็นหลัก หากตลาดมีความต้องการราคาก็จะดีขึ้น ถ้าไม่ต้องการราคาก็ตกต่ำลง โดยที่ผ่านมาและขณะนี้ ประเทศจีนมีความต้องการยางเป็นอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่และลงทุนพัฒนาเป็นจำนวนมากแต่หากจีนยังต้องซื้อยางในราคากิโลกรัมละ 100 บาทต่อไปก็จะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพราะต้องใช้ยางปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องลงทุนเอง

“ดังนั้นจีนจึงลงทุนปลูกยางเองกันสำรองความเสี่ยง โดยปลูกในประเทศอินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม บางประเทศสามารถกรีดได้และนำไปแปรรูปได้แล้ว ขณะที่ประเทศไทยก็มีการขยายพื้นที่ปลูกยางจำนวนมากขึ้น ตลอดจนอินเดีย ก็มีการขยายตัวปลูกเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน”

อดีตโบรกเกอร์ยางรายนี้กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศและจากประเทศจีนสามารถตั้งราคายางได้ ผู้ผลิตเสนอราคาไปก็ไม่ซื้อ ออร์เดอร์ก็ตีกลับมา และรัฐบาลไหนก็ทำไม่ได้ นอกจากต่างประเทศ ที่มีความต้องการยางในปริมาณมากเท่านั้น

เขาบอกว่า บริษัทในกลุ่มของเขานั้นเป็นโบรกเกอร์ตลาดซื้อขายล่วงหน้า บางช่วงขาดทุนคราวละ 10 ล้าน แต่เวลามีกำไรไม่กี่ล้านบาท ขณะนี้ราคายางขาขึ้น แต่โบรกเกอร์กลับไม่ส่งยางพารา

“อดีตราคาเคยขึ้นมากิโลกรัมละ 100 บาท ไปจนถึง 110 120  180 บาท และ 200 บาท ถ้ายางขาขึ้นโอกาสบริษัทรายใหญ่จะขาดทุนหนักมาก แต่เวลาในรอบยางขาลง บริษัทยางก็จะมีกำไร ขณะนี้ยางขาลง บริษัทขนาดใหญ่กำไรมาก ยิ่งซื้อขายล่วงหน้าไว้มากก็จะทำกำไรมหาศาล เพราะต้องซื้อขายล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 เดือน โดยซื้อขายล่วงหน้าไว้ที่กิโลกรัมละ 50 บาท แต่ราคายางภายในประเทศขาลง สามารถมาซื้อได้ที่ 45 บาท 40 บาท ก็ทำกำไรได้”

กัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มยางเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ อ.เบตง จ.ยะลา สถาบันเกษตรกรผู้แปรรูปยางส่งออกยางรายใหญ่ภาคใต้ ก็บอกว่า ที่ผ่านมานักลงทุนเข้าไปลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก มีการโยกการลงทุนจากทองคำ น้ำมัน มาลงทุนยาง มีการทุ่มขายกันมากที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน จนราคาร่วงลงคราวละประมาณ 1,040 หยวน/ตัน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน จนราคาผันผวนตลาดโลก

กัมปนาท มองอีกว่า ผลกระทบต่อราคายางที่สำคัญคือประเทศจีนซื้อยางน้อยลง และยังรู้ว่ายางมีสต๊อกของไทยมีมาก จึงชะลอการซื้อ รวมไปถึงประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น ด้วย ส่วนตลาดยาง 3 ประเทศ ที่ร่วมโครงการมี ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีการเจรจากันถึง 3 รอบ เพื่อลดกำลังการผลิตส่งออกแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมีการอ้างว่าไทย เพิ่มกำลังการผลิตส่งออกถึงกว่า 19% จึงไม่เชื่อถือ อีกทั้งการใช้ยางภายในประเทศของไทยก็ไม่ตรงตามเป้าหมาย เช่น การใช้ยางในประเทศ ประมาณ 1 แสนตัน ตามนโยบายรัฐบาล แต่ได้ 2,800 ตันเท่านั้น จึงส่งผลต่อราคายาง

นี่คือประเด็นร้อนเรื่องยางที่คุกรุ่นและอาจปะทุขึ้นได้อีกทุกเมื่อ