posttoday

เปิดภารกิจ "หมองูเมืองกรุง" จับกันมือเป็นระวิงเดือนละกว่า2พันตัว

16 พฤศจิกายน 2560

ส่องภารกิจเจ้าหน้าที่ปภ.ที่เข้าช่วยเหลือประชาชนเมื่อถูก"งู"บุกบ้าน ตั้งแต่การเข้าไปจับจนถึงการนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

"งู" เป็นสัตว์อีกชนิดที่คนส่วนใหญ่เห็นแล้วต้องวิ่งหนี เพราะด้วยลักษณะลำตัวยาวเงามันวาวของมันทำให้ผู้ที่พบเจอรู้สึกกลัวจนขนลุกและรู้สึกว่าไม่ชอบสัตว์เลื่อยคลานชนิดนี้ แต่ทว่างูเป็นสัตว์ที่เลื้อยวนเวียนอยู่ใกล้กับชีวิตมนุษย์มากจนคาดไม่ถึง นี่จึงเป็นเหตุผลทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องทำภารกิจที่หลายคนไม่อยากทำนั่นคือ นักจับงู หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า หมองู

"ภารกิจจับงู เป็นอีกหนึ่งหน้าที่นอกเหนืองานดับเพลิง ช่วยรถยางแบน กำจัดแมลงบินได้ที่มีพิษ ช่วยเหลือสุนัขและแมวที่ประสบอุบัติเหตุ ฯลฯ. เพราะมันคืองานบริการประชาชน" คำพูดสะท้อนหน้าภารกิจหน้าที่ของ จ.ส.ต.ภิญโญ พุกภิญโญ เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชำนาญการ ประจำสถานีดับเพลิงบางเขน และเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอื่นๆ ที่ต้องทำทุกวัน

ในปี 2559 เหตุจับงูในพื้นที่กรุงเทพฯที่รับแจ้งผ่านสายด่วน 199 ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมากกว่า 3 หมื่นตัว เฉลี่ย 2-3 พันตัวต่อเดือน

งูที่พบมากในเขตเมืองคือ งูเหลือม งูหลาม งูเห่า งูสิงห์ งูทางมะพร้าว งูเขียวหางไหม้ งูก้มขบ งูแสงอาทิตย์ ไปจนถึงงูต่างถิ่นที่หลุดหรือถูกปล่อยจากแหล่งเพาะเลี้ยงของมนุษย์ แต่งูที่สร้างปัญหาและพบบ่อย 70% คือ งูเหลือม รองลงมา 25% งูทั่วไป และอีก 5% งูต่างถิ่น

เปิดภารกิจ "หมองูเมืองกรุง" จับกันมือเป็นระวิงเดือนละกว่า2พันตัว

จ.ส.ต.ภิญโญ บอกว่าภารกิจจับงูในพื้นที่รับผิดชอบสถานีดับเพลิงบางเขนมีทุกวันตั้งแต่ฟ้าสว่างจนถึงมืด ส่วนสาเหตุที่พบงูตามบ้านบ่อยเพราะในอดีตเป็นป่าและรกร้าง เมื่อมนุษย์สร้างบ้านทับที่อยู่อาศัยงูจึงเป็นปกติต้องเจอประกอบกับบ้านเป็นแหล่งอาหารชั้นดีทั้งหนู นก กบ เขียด และแมว ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอันโอชะ ดังนั้นการจับงูจึงเป็นอีกภารกิจหลักของพนักงานดับเพลิง

การปฏิบัติงานจับงูเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุผ่านศูนย์วิทยุสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งอยู่บริเวณแยกศรีอยุธยา พนักงานจะโทรกลับไปสอบถามรายละเอียดจุดเกิดเหตุและลักษณะสัตว์กับผู้แจ้ง เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน

จากนั้นจะจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับจับงู อาทิ 1.ถุงมือหนัง ใช้ป้องกันงูกัดหรือฉกบริเวณมือ 2.ตะขอ ใช้นำงูออกมาจากบริเวณเข้าถึงยาก 3.บ่วงคล้อง เพื่อจับงูใส่กระสอบ (สำหรับงูไม่มีพิษ) และถัง (งูมีพิษ) ก่อนรีบขับรถออกไปยังจุดเกิดเหตุ เมื่อไปถึงจะแสดงตัวพร้อมสอบถามรายละเอียด

เปิดภารกิจ "หมองูเมืองกรุง" จับกันมือเป็นระวิงเดือนละกว่า2พันตัว อุปกรณ์จับงู

นักจับงูรายนี้ เล่าว่าเมื่อถึงที่เกิดเหตุอันดับแรกต้องประเมินพื้นที่ว่าจะเข้าจับงูอย่างไร หากเป็นที่กว้างจะง่ายต่อการจับมาก ใช้เพียงบ่วงคล้องเพื่อจับงูใส่ลงภาชนะที่เตรียมไว้เท่านั้น แต่ข้อระวังอย่ารัดงูแน่นเกินไปเพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ และควรรัดช่วงใกล้ๆกับหัวงูมากที่สุดเพราะหากรัดเลยกลางลำตัว งูอาจแว้งฉกกัดได้

ส่วนพื้นที่บริเวณฝ้าหรือหลังคาสิ่งแรกต้องปิดช่องทางที่งูอาจเลื้อยหนี เช่น หาผ้าปิดผิดรู มิเช่นนั้นหากงูหนีไปได้ความกดดันจะตกกับเจ้าหน้าที่เพราะต้องค้นหารวมถึงเจ้าของบ้านอาจเป็นกังวล เมื่อเจอจะใช้บ่วงคล่องบริเวณหัวและพยายามดึงออกจากบริเวณนั้น แต่ถ้าเป็นงูเหลือมหรืองูหลามที่มีขนาดใหญ่ควรรีบดึงออกมาให้เร็ว ไม่เช่นนั้นงูจะเลื้อยหาที่ยึดเกาะเพิ่มและอาจยากต่อการนำออกมา และสุดท้ายหากเป็นพื้นที่เข้าถึงยากควรใช้ตะขอเกี่ยวงูออกมาก่อนใช้บ่วงคล้องนำใส่ภาชนะเป็นอันจบภารกิจ

เปิดภารกิจ "หมองูเมืองกรุง" จับกันมือเป็นระวิงเดือนละกว่า2พันตัว

 

หลังจากจับงูกับมายังสำนักงานเจ้าหน้าที่จะแยกงูมีพิษและไม่มีพิษ หากเป็นงูเห่าหรืองูจงอางจะใส่บ่อที่ปิดล็อคมิดชิดแยกไว้ ส่วนกลุ่มไม่มีพิษทั่วไปจะใส่รวมกัน ขณะที่งูเหลือมและงูหลามซึ่งมีขนาดใหญ่จะขังแยกขนาดเพื่อไม่ให้งูมีอาการบาดเจ็บจากการทับกัน ซึ่งมีผลทำให้งูพิการและตายได้

จากนั้นทุกเดือนจะนำส่งต่อให้หน่วยงานอื่น หากเป็นงูพิษสถานเสาวภาจะนำไปศึกษาวิจัยหรือสกัดพิษทำเซรุ่มตามกระบวนการ ส่วนงูไม่มีพิษกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนำไปปล่อยป่า แต่บางครั้งหากมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกลชุมชนที่สภาวะเหมาะสมงูสามารถอยู่และหากินได้เอง เช่น มีแหล่งน้ำ เป็นพื้นที่รกร้างและอยู่ห่างไกลชุมชนก็อาจนำไปปล่อยเอง

เปิดภารกิจ "หมองูเมืองกรุง" จับกันมือเป็นระวิงเดือนละกว่า2พันตัว การจัดเก็บรักษา และนำงูส่งต่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

นักจับงูรายนี้ ทิ้งท้ายว่าหากประชาชนพบเจองูหรือสัตว์เลื่อยคลานอย่าทำร้ายหรือฆ่า เพราะพื้นที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์เหล่านี้มาก่อนจึงไม่แปลกที่งูเข้าบ้านและขอให้โทรแจ้งสายด่วน 199 ทั้งนี้แนะนำว่าทางตัดวงจรงูเข้าบ้านดีที่สุดควรเริ่มจากการป้องกันตนเองโดยระวังดูแลจัดเก็บสัตว์ที่อาจเป็นเหยื่อของงูให้ดี รวมถึงจัดเก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบเพื่อไม่ให้งูเขาไปหลบซ่อนเพราะสัตว์ประเภทนี้ชอบพื้นที่รก แคบ อุ่น เช่นกองผ้าหรือรองเท้า

เปิดภารกิจ "หมองูเมืองกรุง" จับกันมือเป็นระวิงเดือนละกว่า2พันตัว

เปิดภารกิจ "หมองูเมืองกรุง" จับกันมือเป็นระวิงเดือนละกว่า2พันตัว

เปิดภารกิจ "หมองูเมืองกรุง" จับกันมือเป็นระวิงเดือนละกว่า2พันตัว