posttoday

"จิตสำนึกการท่องเที่ยว" ทางเดียวแก้ปัญหาขยะเกลื่อน

12 พฤศจิกายน 2560

ปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาตินั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับออกไปด้วย

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

ปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาตินั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับออกไปด้วย แต่ก็ไม่ค่อยจะได้ผลนัก

ปัญหาหนักกว่านั้นคือ ในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ไม่มีการจัดถังใส่ขยะไว้ให้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับออกไปด้วยก็กลับกลายเป็นว่าบรรดานักท่องเที่ยวต่างนำขยะจำพวกขวดน้ำ กล่อง และถุงบรรจุอาหารวางทิ้งไว้ในที่ดังกล่าวสร้างปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

กรณีล่าสุดที่จุดชมวิวเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พบขยะจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาชมทะเลหมอกเขาค้อถูกทิ้งเกลื่อนกลาด ซ้ำยังมีการทุบขวดเหล้าและเบียร์แตกเกลื่อนกระจาย

"จิตสำนึกการท่องเที่ยว" ทางเดียวแก้ปัญหาขยะเกลื่อน

จันทร์แรม ศรีเดช นายก อบต.เขาค้อ ผู้รับผิดชอบพื้นที่บอกว่า เหตุที่ไม่ได้มีการนำถังทิ้งขยะไปตั้งวางไว้ เนื่องจากพื้นที่เขาค้ออยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำทำให้ไม่มีบ่อทิ้งขยะ ที่ผ่านมาต้องอาศัยท้องถิ่นข้างเคียงจัดเก็บขยะแทน นอกจากนี้นโยบายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ร่วมกับทางจังหวัดและส่วนราชการต่างๆ ในเขต อ.เขาค้อ ไม่ต้องการให้มีการจัดวางถังทิ้งขยะบริเวณแหล่งท่องเที่ยวของเขาค้อ เพื่อคาดหวังให้นักท่องเที่ยวนำขยะติดกลับไปทิ้งที่บ้าน โดยไม่ทิ้งให้เลอะเทอะแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม

 

“นโยบายดังกล่าวได้ผลในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากปริมาณขยะลดลง แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวที่โยนขยะทิ้ง ซึ่ง อบต.จะจัดพนักงานและจิตอาสาเข้าไปช่วยกันจัดเก็บเป็นประจำ”

การให้นักท่องเที่ยวนำขยะที่ติดตัวมากลับออกไปด้วยนั้นมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการจัดการขยะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่มากขึ้นจนยากเกินจัดการ

"จิตสำนึกการท่องเที่ยว" ทางเดียวแก้ปัญหาขยะเกลื่อน

ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ปัญหาขยะในพื้นที่อุทยานเป็นเรื่องที่อุทยานพยายามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะอุทยานแต่ละแห่งมีกำลังคนที่จะดูแลปัญหานี้อย่างจำกัด จึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนที่เข้าไปเที่ยวในอุทยานมีจิตสำนึกในเรื่องนี้ ทั้งการประชาสัมพันธ์โดยเจ้าหน้าที่ ป้ายเตือนและออกแคมเปญรณรงค์

 

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะใช้มาตรการเชิงรุกในการประชาสัมพันธ์เรื่องการกำจัดขยะในพื้นที่ และประกาศใช้โครงการต่างๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจ เช่น โครงการขยะคืนถิ่นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เชิญชวนประชาชนที่มาเที่ยวช่วยกันนำขยะกลับลงมา แสดงกับเจ้าหน้าที่บริเวณด่านตรวจห้วยแก้วในช่วงเวลา 22.00-02.00 น. โดยทางอุทยานจะมีของที่ระลึกมอบให้ ขณะนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมขยะคืนถิ่นผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

นอกจากนี้ ที่ภูกระดึงมีโครงการมัดจำบรรจุภัณฑ์สำหรับสิ่งของที่นักท่องเที่ยวนำขึ้นไปด้านบน โดยจะได้เงินมัดจำคืนเมื่อนำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาแสดง การเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวเก็บขยะลงมาพื้นราบจำนวน 1 กิโลกรัม เพื่อแลกกับใบประกาศเกียรติคุณ

“แต่วิธีการ หรือมาตรการที่จะมาดูแล กำจัดขยะจากเขตอุทยานที่ดีที่สุดก็คือ การอาศัยจิตสำนึกของนักท่องเที่ยวเอง โดยเฉพาะช่วงนี้ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวในพื้นที่อุทยานในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจนหลายแห่งไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวเพิ่มได้ เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักว่า แม้เจ้าหน้าที่จะกวดขันดูแลเรื่องนี้แค่ไหนก็ไม่มีกำลัง หรือสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง การประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกเรื่องนี้จึงสำคัญที่สุด” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว

"จิตสำนึกการท่องเที่ยว" ทางเดียวแก้ปัญหาขยะเกลื่อน

ในฐานะผู้ปฏิบัติ บันทม สมสุวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ (อช.) ภูซาง จ.พะเยา บอกว่า อุทยานแห่งชาติภูซางเป็นหนึ่งในอุทยานที่ดำเนินโครงการขยะคืนถิ่น โดยรณรงค์และเชิญชวนนักท่องเที่ยว ประชาชนที่มาเที่ยวน้ำตกภูซาง ช่วยกันนำขยะของตนเองกลับไปทิ้งที่บ้าน เพื่อลดปริมาณขยะของแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ก็ได้ทำกิจกรรมขยะแลกไข่ขึ้นอีกโครงการหนึ่ง

 

“เมื่อมีนักท่องเที่ยวมามาก ขยะก็มีจำนวนมากตามมาเช่นกัน จึงจัดทำโครงการขยะคืนถิ่น เพื่อรณรงค์ลดขยะในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งหมดที่ทำเกี่ยวกับการรณรงค์ลดปริมาณขยะ เพื่อป้องกันปัญหาขยะล้นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้น้ำตกภูซางและพื้นที่อื่นๆ ของ อช.ภูซาง มีความสะอาดนักท่องเที่ยวมานั่งรับประทานอาหารลานหน้าน้ำตกภูซางได้อย่างสบายใจ ไม่มีกลิ่นขยะให้รบกวน” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูซาง กล่าว

ปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวนั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ทางเดียวที่จะช่วยรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้ทรงคุณค่าต่อไปได้ คือทุกฝ่าย ทุกคนที่เข้าไปในพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติต้องช่วยกันลดขยะ นอกจากไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายเองไม่ได้ เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋อง หากนำเข้าไปก็ควรเก็บคืนออกมาด้วย