posttoday

เหมืองทองอัคราพร้อมเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

03 พฤศจิกายน 2560

พิจิตร-เหมืองทองอัคราประกาศเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับรัฐบาลไทย พร้อมรักษาบรรยากาศการเจรจามากว่าการเรียกร้องค่าเสียหาย

พิจิตร-เหมืองทองอัคราประกาศเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับรัฐบาลไทย พร้อมรักษาบรรยากาศการเจรจามากว่าการเรียกร้องค่าเสียหาย

ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี หรือ เหมืองแร่ทองคำอัครา ตั้งอยู่ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ส่งจดหมายชี้แจงถึงสื่อมวลชนว่า บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดดเต็ด จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)    ประกาศการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทยโดยมีเนื้อหาในจดหมายกล่าวว่า บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด (ASX:KCN) (“คิงส์เกต” หรือ “บริษัท”) ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย มีใจความว่า หลังจากใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว บริษัทฯ ไม่สามารถหาข้อยุติในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีเหมืองแร่ทองคำชาตรีถูกสั่งระงับการประกอบกิจการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น บริษัทฯ จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายอันมหาศาลที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อันเกิดจากมาตรการของรัฐบาลไทย เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าไปกว่านี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการแต่งตั้งบริษัทคลิฟฟอร์ด ชานซ์ (Clifford Chance) ซึ่งเป็นบริษัทด้านกฎหมาย เป็นตัวแทนในการดำเนินคดีแทนบริษัทฯ และ ดร. แอนดริว เบลล์ เอส. ซี (Dr. Andrew Bell S.C.) ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสสำหรับประเด็นทางกฎหมายดังกล่าวกระบวนการทางกฎหมายดังกล่าวอาจจะไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการได้ และอาจมีค่าใช้จ่ายมหาศาลที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบ ทั้งยังไม่สามารถรับประกันผลการพิจารณาได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ขอแจ้งให้ทราบว่า การเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการยังอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาหารือกันได้เพื่อหาข้อยุติ ภายใต้เงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับข้อตกลง ณ เวลาใดก็ตาม ในระหว่างกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายนี้ คณะกรรมการ บริษัท คิงส์เกตฯ เล็งเห็นว่า ยังคงมีโอกาสในการได้รับการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากทางราชอาณาจักรไทย และจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดต่อไป

สำหรับการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการที่มีเหมืองทองอัคราเป็นผู้ร้องและมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ถูกร้องเป็นการแก้ไขข้อพิพาทในระดับนานาชาติ เพื่อการพิจารณาอ้างอิงตามหลักเกณฑ์สากลที่มิได้อิงกับกฎหมายของประเทศไทย ในกรณีเมื่อเกิดเหตุขัดแย้งที่ฝ่ายหนึ่งถูกกระทำและอีกฝ่ายหนึ่งกระทำจนไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ภายในประเทศก็สามารถยื่นเรื่องไปที่องค์กรกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเหมืองทองอัคราได้ยื่นเรื่องชี้แจงบอกกล่าวไปยังฝ่ายผู้กระทำ คือ รัฐบาลไทย ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 แต่ไม่มีความคืบหน้า จนเวลาล่วงเลยมานานแล้วจนเป็นเหตุให้วันนี้ฝ่ายเหมืองทองอัคราจนต้องขับเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการที่จะต้องมีตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ร้อง-ฝ่ายผู้ถูกร้อง  และฝ่ายที่เป็นกลาง ที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับ เพื่อทบทวนพิสูจน์ข้อเท็จจริงในทุกมิติเพื่อหาข้อสรุปใครถูก-ใครผิด มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไรมูลค่าความเสียหายมากน้อยเท่าไหร่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องได้เพื่อให้อนุญาโตตุลาการลงมติ ซึ่งก็จะมีผลผูกพันกับทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายบริหารของเหมืองทองอัครายังคงรักษาบรรยากาศของการเจรจาโดยไม่ได้ยกเรื่องเงินมาเป็นตัวตั้ง(ดังนั้นที่ว่าจะเรียกร้องค่าเสียหาย3หมื่นล้านบาทไม่เป็นความจริง) โดยฝ่ายเหมืองทองเชื่อมั่นว่าข้อสรุปจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่ว่าการทำเหมืองทองไม่มีผลกระทบเรื่องสารโลหะหนักหรือสารพิษตามที่ฝ่ายผู้ประท้วงและฝ่ายNGOร้องเรียน รวมถึงก่อนหน้านี้เมื่อประมาณวันที่ 12กันยายน 2560 รมต.สาธารณสุขเผยผลตรวจสอบข้อเท็จจริงผลกระทบด้านสาธารณสุขของประชาชนรอบเหมืองทองอัครา ว่า ไม่เกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองทองที่จะนำมาให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้พิจารณา