posttoday

พลังงานดันพิษณุโลก ต้นแบบใช้ก๊าซชีวภาพ

01 พฤศจิกายน 2560

กระทรวงพลังงาน พร้อมผลักดันให้ จ.พิษณุโลก เป็นต้นแบบใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนพลังงานจากก๊าซหุงต้มที่มีราคาแพง

โดย...ชินวัฒน์ สิงหะ

หลังจากกระทรวงพลังงานนำร่องสนับสนุนเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ในพื้นที่ ต.หนองพระ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ประสบความสำเร็จสามารถลดต้นทุนในการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนได้ 100% ทำให้ ทิพากร พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พร้อมผลักดันให้ จ.พิษณุโลก เป็นต้นแบบใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนพลังงานจากก๊าซหุงต้มที่มีราคาแพงเกือบถังละ 400 บาท

ทิพากร บอกว่า ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ปี 2558-2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) มีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 30% โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา กองทุนอนุรักษ์พลังงานได้สนับสนุนโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนต่างๆ มากมายในท้องถิ่น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สามารถช่วยลดค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับชาวบ้าน และถือเป็นต้นแบบเทคโนโลยีสำหรับใช้ในท้องถิ่นหรือชุมชน โครงการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนในชุมชน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้สนับสนุนการติดตั้งเทคโนโลยีต่างๆ ในชุมชน เช่น เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพใน จ.พิษณุโลก ขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร ให้กับ 20 ชุมชน ในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง นครไทย วังทอง บางกระทุ่ม ชาติตระการ พรหมพิราม บางระกำ เนินมะปราง และวัดโบสถ์

ทิพากร บอกต่อว่า สาเหตุที่นำร่อง จ.พิษณุโลก เพราะมองเห็นถึงศักยภาพของทรัพยากรในพื้นที่ เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดครัวเรือนไปจนถึงฟาร์มขนาดเล็ก ทำให้สามารถนำมูลสัตว์และของเสียมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซหุงต้มแอลพีจีในครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานในครัวเรือนลงได้ 80% จากเดิมที่ชุมชนมีการใช้ก๊าซแอลพีจีเฉลี่ย 1 ถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) ต่อ 3 เดือน ปัจจุบันหลังจากที่มีการใช้ก๊าซชีวภาพร่วมด้วย ทำให้การใช้ก๊าซแอลพีจีลดลง และใช้ได้นานขึ้นถึง 5 เดือน ต่อ 1 ถัง หรือเสียค่าใช้จ่ายก๊าซแอลพีจีเพียง 80 บาท/เดือนเท่านั้น รวมถึงยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์และแมลงต่างๆ ให้กับชุมชนได้อีกด้วย ถือเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังพัฒนาไปสู่การเป็นโครงการต้นแบบก๊าซชีวภาพ และศูนย์การเรียนรู้การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ เพื่อให้ชุมชนผลักดันแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทดแทนในชุมชน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ตามเฉลิมฬ์ จันทนาคร พลังงานจังหวัดพิษณุโลก บอกว่า ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการติดตั้งและบำรุงรักษาบ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบพีวีซี ขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 197 บ่อ ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก เมื่อปี 2558 เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนและส่งเสริมให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นมากขึ้น ตลอดทั้งสร้างโอกาสในการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเดือดร้อนรำคาญในชุมชน เกิดการแบ่งปันพลังงานทดแทน

หมง จีนบางช้าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองพระ บอกว่า ปัจจุบันในพื้นที่ของ ต.หนองพระ มีการเลี้ยงหมูหลายครัวเรือน ครัวเรือนละ 20-30 ตัว ส่งผลให้ปัญหาของมูลหมูส่งกลิ่นเหม็นเป็นมลพิษในชุมชน ครั้นจะให้ชุมชนเลิกเลี้ยงหมูก็เป็นไปไม่ได้เพราะเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน จึงได้มีการประชุมร่วมกันในชุมชนเพื่อหาทางออกในการทำให้มูลหมูเหล่านี้ไม่ส่งกลิ่นรบกวนชุมชนอีกต่อไป และนำไปจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด จึงได้ทำการประสานไปยังกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีโครงการเกี่ยวกับเรื่องของก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ เพื่อศึกษาหาทางออกให้ชุมชน จนเป็นที่มาโครงการส่งเสริมพัฒนาพลังงานทดแทนในชุมชน โดยนำร่องสนับสนุนเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ 17 ครัวเรือน จนประสบความสำเร็จในการกำจัดกลิ่นของมูลสัตว์ทุกประเภทไม่ส่งกลิ่นเป็นมลพิษ

สวัสดิ์ ฉิมพุดซา เป็น 1 ใน 17 ครอบครัวของ หมู่ 4 ต.หนองพระ อ.วังทอง บอกว่า ครอบครัวได้รับสนับสนุนการติดตั้งเทคโนโลยีแท็งก์ก๊าซชีวภาพจากมูลหมู และสามารถนำไปใช้ได้จริงในครัวเรือน สามารถลดต้นทุนในการซื้อก๊าซหุงต้มได้เฉลี่ยเดือนละ 1 ถัง ในราคาถังละประมาณ 390-400 บาท

“เมื่อ 2 ปีก่อน ได้ประชุมกับทาง อบต.หนองพระ และคนในชุมชนว่าจะจัดการอย่างไรกับปัญหาของมูลสัตว์ ที่ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลเป็นมลพิษในชุมชน ซึ่งทาง อบต.หนองพระ ได้ทางกระทรวง พลังงาน เข้ามาชี้แจงแนะนำเกี่ยวกับโครงการก๊าซหุงต้มชีวภาพ โดยทางกระทรวงพลังงานเป็นผู้สนับสนุนงบให้ครัวเรือนละ 5,800 บาท ในการติดตั้งอุปกรณ์ลักษณะเป็นผ้ายาง ฝังในหลุม กึ่งๆ แท็งก์และมีช่องในการใส่มูลสัตว์เข้าไป และช่องระบายก๊าซที่ี่ต่อเป็นท่อพีวีซี ไปยังเตาก๊าซหุงต้มภายในบ้านสามารถลดต้นทุนซื้อก๊าซหุงต้มได้ 100%”

ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์สามารถใช้ได้ตลอดตราบใดที่ยังมีมูลสัตว์ป้อนเข้าไป หากช่วงไหนมีมูลสัตว์เยอะ ก๊าซชีวภาพใช้ไม่ทัน ก็จะเปิดช่องระบายมูลสัตว์ออกมา ซึ่งสามารถตักไปรดพืชผักในครัวเรือนได้ แทนปุ๋ยเคมีผักเจริญงอกงามได้เป็นอย่างดี