posttoday

ผู้ว่าฯตรังตรวจเกาะลิบงแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง

10 ตุลาคม 2560

ตรัง-ผู้ว่าฯตรังพาศศินลงพื้นที่เกาะลิบงหาทางแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งบ้านพังแล้วนับสิบหลังแนะทำโครงการเติมทราย-ดักทรายเพื่อให้ชายหาดกลับสู่สมดุล

ตรัง-ผู้ว่าฯตรังพาศศินลงพื้นที่เกาะลิบงหาทางแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งบ้านพังแล้วนับสิบหลังแนะทำโครงการเติมทราย-ดักทรายเพื่อให้ชายหาดกลับสู่สมดุล

นายศิริพัฒ พัฒนกุล ผวจ.ตรัง พร้อมด้วย นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะที่ปรึกษาด้านการกัดเซาะชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายไมตรี แสงอริยนันท์ ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายมเหสักข์ หิรัญตระการ ผอ.ส่วนบริหารพื้นที่ชายฝั่งและวิชาการ สบทช.7 ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านบนเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมประมาณ 100 คน  ได้ร่วมกันเปิดเวทีกลางหมู่บ้าน เพื่อแสดงความคิดเห็นและบอกถึงปัญหาความเดือดร้อนซ้ำซากมานานกว่า 10 ปี  อันเนื่องมาจากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงบริเวณชายหาดบนเกาะลิบง โดยเฉพาะหมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา  จนสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านซึ่งปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่นับสิบหลัง และกำลังกัดเซาะรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะที่ปรึกษาด้านการกัดเซาะชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า  ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบนเกาะลิบง มีการแก้ไขมาตลอด แต่ไม่ถูกทิศถูกทาง ไม่ถูกจุด  เพราะกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาทั่วประเทศ ตั้งแต่ปัตตานี สงขลา ขึ้นมา ซึ่งทุกคนก็จะเอาโครงสร้างแข็งๆ มาสู้กับคลื่น ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหายิ่งลุกลามออกไป  จึงขอแนะนำว่าต้องบรรเทาปัญหาชั่วคราวก่อน โดยบ้านที่พังต้องรีบแก้ต้องรีบทำอย่างรวดเร็ว  ยิ่งหน้ามรสุมเช่นนี้ต้องทำโครงสร้างอะไรก็ได้ เพื่อที่จะบรรเทาปัญหาให้กับบ้านที่กำลังจะพังอีกหลายหลัง  ส่วนในระยะยาวต้องมาศึกษาทางวิชาการว่า ทรายที่เข้ามาในหาด กับทรายที่ออกไป อันไหนมากกว่ากัน  โดยจะต้องมีโครงการเติมทราย กับโครงการดักทราย เพื่อให้ชายหาดกลับสู่สมดุล

ด้าน นายศิริพัฒ พัฒกุล ผวจ.ตรัง กล่าวว่า  ชาวเกาะลิบงอยากได้พนังกันคลื่นแบบโครงสร้างแข็งๆ และก็ได้มีการออกแบบมาแล้วในงบประมาณ 60 ล้านบาท แต่ต้องมีการระดมความคิดเห็นกับนักวิชาการในด้านธรณีวิทยาก่อนว่า ประโยชน์ที่ได้รับคืออะไรมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะอาจป้องกันเบื้องต้นได้ในระยะแรก แต่อนาคตพนังแบบนี้จะไปทำลายตรงจุดใหม่แทน จึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีอื่นเพื่อแก้ปัญหาต่อไป  เบื้องต้นได้สั่งให้ทำไม้กั้นแล้วปักเสาคู่ ก่อนเอากิ่งไม้ใส่ลงไป ซึ่งวิธีการนี้ได้ผลสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่  นอกจากนั้น ที่ดินที่มีการกัดเซาะอีกส่วนหนึ่งระยะทาง 470 เมตร อยู่ในความรับผิดชอบของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง  จึงได้สั่งการให้ทาง อบต.รีบไปขออนุญาติ เพื่อทางจังหวัดจะได้รีบไปประสานของบประมาณเพิ่มเติมมาดำเนินการให้