posttoday

‘เอสเอ็มอี’ โคม่า แบงก์เข้มสินเชื่อหวั่นหนี้สูญ

07 ตุลาคม 2560

แม้ว่าที่ผ่านรัฐบาลจะออกสารพัดมาตรการอุ้มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ทั้งกระตุ้นทั้งอัดฉีดเม็ดเงินแล้วก็ตาม แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยยังทรงกับทรุด

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

แม้ว่าที่ผ่านรัฐบาลจะออกสารพัดมาตรการอุ้มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ทั้งกระตุ้นทั้งอัดฉีดเม็ดเงินแล้วก็ตาม แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยยังทรงกับทรุด แต่ก็ไร้ผล เพราะทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเพื่อป้องกันหนี้สูญและหนี้เน่า

สมหวัง ถุงสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มองว่า ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท ไม่ได้หยุดชะงัก แต่อัตราการเติบโตเป็นไปแบบช้าๆไม่หวือหวา หรือน่าตกใจเหมือนในอดีต ทั้งในมุมบวกและมุมลบ ทุกอย่างก้าวไปข้างหน้าแบบต้องใช้สมองและการประคองตัว ซึ่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อาจได้เปรียบเอสเอ็มอี เพราะทุนสูงกว่า สายป่านยาวกว่า ดังนั้นเอสเอ็มอีย่อมเสียเปรียบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แน่นอน เพราะว่าสายป่านสั้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ไม่ง่าย

ตลอดปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาล และสถาบันการเงิน จะทุ่มโครงการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นแบบอัดฉีดเอสเอ็มอีแล้วก็ตาม แต่ก็ปลุกไม่ขึ้นเพราะการช่วยเหลือนั้นมีหลักเกณฑ์และระเบียบ เพื่อป้องกันหนี้สูญและหนี้เสียเช่นกัน ขณะที่เอสเอ็มอีก็บอบช้ำมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้คุณสมบัติของผู้ที่จะกู้เองด้อยลงไป หรือไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการที่จะกู้ตามที่รัฐบาลพยายามจะช่วยกระตุ้น
ขณะเดียวกันการตลาดของเอสเอ็มอีในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ หากเอสเอ็มอีผลิตสินค้าแบบเดียวกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะมีต้นทุนการผลิตและดอกเบี้ยที่นำมาลงทุนดำเนินธุรกิจมากกว่า การขายสินค้าจึงไม่สามารถทำราคาต้นทุนให้ต่ำกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ แต่หากเอสเอ็มอีเข้าไปผลิตชิ้นงานที่อยู่ในสายพานการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือเป็นซับคอนแท็กต์ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาจจะพอเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ถึงแม้จะไม่เป็นแบบก้าวกระโดดก็ตาม

สมหวัง กล่าวอีกว่า ส่วนในไตรมาส 4 ของปีนี้ก็ยังมองว่าดีกว่า 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ถึงจะเชื่องช้าแต่ไม่ได้หยุดนิ่งหรือถอยหลัง เป็นการเติบโตแบบค่อยๆเดินไปข้างหน้า ซึ่งในภาพรวมของอุตสาหกรรมที่เดินไปข้างหน้าในสภาวการณ์ของประเทศและของโลกเช่นนี้ ที่เห็นจะดี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมที่เดินช้าหรือทรงตัว คือ ด้านเคมี และสิ่งทอ

“สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2561 ผมและนักลงทุนรวมถึงผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรมทุกระดับ ต้องมอบทิศทางเศรษฐกิจในมุมบวกเท่านั้น และมองว่า ทั้งโลกและประเทศไทย ผ่านจุดที่ต่ำสุดมาแล้ว เรากำลังจะดีขึ้น” สมหวัง กล่าว

ที่มองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะดีขึ้นเพราะการเมือง เริ่มจะมีความชัดเจนขึ้นในกฎหมายรัฐธรรมนูญ โรดแมป การเลือกตั้ง รวมถึงกลุ่มขั้วการเมืองเริ่มสบายตัวลงไป ขณะที่ภาคเกษตรซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของคนรากหญ้าเริ่มจะมีทิศทางดีขึ้น คือมีรายได้จากการเกษตรมากขึ้น ประชาชนจะมีเงินมากขึ้น

ส่วนรัฐบาลเองก็มีโครงการมากมายที่มากระตุ้นอัดฉีดเศรษฐกิจ ทั้งโครงการระดับตำบล จังหวัด หรือโครงการเมกะโปรเจกต์ ด้านการก่อสร้าง ทั้งหมดเม็ดเงินมหาศาลกระจายหมุนเวียนไปทั่ว และจะส่งผลต่อการจับจ่ายซื้อขาย ซึ่งภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภทจะได้ประโยชน์จากตรงนี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนปัจจัยภายนอก คือ ตลาดโลก มีเรื่องเดียวที่ทุกคนกลัว คือ เกิดสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ รวมถึงการก่อการร้าย ที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ตลาดหุ้น หรือราคาน้ำมันในโลกผันผวนได้ ซึ่งหากมองกันจริงๆ ไม่น่าจะมีเหตุการณ์ใดที่รุนแรงไปมากกว่านี้ อาจเป็นเพียงการเล่นสงครามจิตวิทยาผ่านสื่อเท่านั้น

สมภพ ธีระสานต์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง บอกว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี จึงต้องเตรียมปรับตัวอย่างแรง โดยเฉพาะการเพิ่มต้นทุนด้านแรงงานหลังจากแรงงานเริ่มขาดแคลนตลาด ดังนั้นผู้ประกอบต้องหันไปปรับปรุงใช้เครื่องจักรมากขึ้น เอสเอ็มอีที่ไม่มีทุนพอจะต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของแรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ขณะที่อีกประการหนึ่งที่ต้องปรับตัวด่วน คือ เรื่องการทำบัญชีเดียว ที่ธนาคารต่างๆ จะใช้บัญชีที่ผู้ประกอบการยื่นต่อสรรพากร และต้องเริ่มลงทะเบียนให้ถูกต้องตั้งแต่เดือน ม.ค. 2561 เพื่อเริ่มฐานการพิจารณาในเดือน ก.พ.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในต้นปีหน้ามีเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวหลายประการ เช่น การใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งแรงงานไทยขาดแคลน ต้องใช้แรงงานที่จดทะเบียนถูกต้องหรือแรงงานนำเข้าแบบเอ็มโอยู ที่แรงงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างเสรี จึงต้องแข่งขันกันในการดูแลแรงงานให้มีความภักดีต่อองค์กร การเพิ่มต้นทุนด้านแรงงานจะเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการหันไปปรับปรุงใช้เครื่องจักรมากขึ้น เอสเอ็มอีที่ไม่มีทุนพอจะต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของแรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต

สมชาย สุรเวคิน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจการลงทุนใน 3 ไตรมาสของปีนี้ ด้วยปัจจัยที่ธนาคารไม่ยอมปล่อยเงินกู้เพราะกังวลเรื่องหนี้เสีย และโครงการประชารัฐก็อยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องและขาดเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้เงื่อนไขของโครงการประชารัฐที่ให้กู้จะเน้นให้ลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ ในจุดนี้ก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ เพราะ จ.เพชรบูรณ์เป็นเมืองเกษตรการใช้เครื่องจักรจึงมีค่อนข้างน้อย

สมชาย กล่าวว่า ปัญหาของธุรกิจเอสเอ็มอีในขณะนี้ก็คือขาดเงินหมุนเวียนในระบบ หากต้องกู้เพื่อไปลงทุนใหม่คงต้องคิดหน้ก เพราะหากไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นการกู้ยืมไปต้องจะเป็นภาระมากขึ้น อาทิ ที่เพชรบูรณ์ตอนนี้มีเงินมากองอยู่ 150 ล้านบาท แต่ที่จะได้รับอนุมัติมีธุรกิจเอสเอ็มอีเพียง 2 รายนั้น เสียดายเม็ดเงินที่เหลือหากให้เอสเอ็มอีรายเล็กๆ กู้ยืมรายละ 1-2 ล้านบาท เพื่อมาใช้หมุนเวียนเงินก้อนนี้จะกระจายและทำให้เศรษฐกิจสะพัดอีกเท่าไหร่

“ปัญหาเรื่องมาตรฐานจีเอพีก็เป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้การค้าการลงทุนต้องชะงักงัน ซึ่ง จ.เพชรบูรณ์เป็นเมืองเกษตรและพื้นที่เพาะปลูกก็อยู่บนเขา การกำหนดให้พื้นที่เพาะปลูกต้องมีเอกสารสิทธิ ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อยและเกษตรกรแทบเอาตัวไม่รอด ในขณะที่ยักษ์ใหญ่กินรวบหมด ฉะนั้นหากรัฐบาลเกาไม่ถูกที่คันโดยไม่ทบทวนในเรื่องนี้ โอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าคงลำบาก” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ระบุ

เข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวและเข้าถึงการขอรับบริการของหน่วยงานภาครัฐ งานด้านวิชาการและหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ควรลบภาพการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ให้หมดและก้าวสู่การเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีสมัยใหม่ ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่จะผ่านวิกฤตไปได้

อย่างไรก็ตาม ทางหอการค้าจังหวัดขอนแก่นพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงและต่อยอดการดำเนินธุรกิจทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจขอนแก่นในทุกระดับนั้นมีช่องทางการตลาด มีการเจรจาการเป็นคู่ค้าทางธุรกิจ จนเกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจในที่สุด