posttoday

ผังเมือง กทม.ยุค 4.0

16 กันยายน 2560

อีกไม่กี่ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานครจะเปลี่ยนไปอย่างผิดหูผิดตา เท่าที่นึกได้มีปัจจัย 2-3 เรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเมือง

 อีกไม่กี่ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานครจะเปลี่ยนไปอย่างผิดหูผิดตา เท่าที่นึกได้มีปัจจัย 2-3 เรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเมือง 

ข้อแรกคือ อานุภาพของรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่หลายสายจะเปลี่ยนโฉมการพัฒนาเมืองไปจากเดิม การเดินทางเข้าออกเมืองในทุกทิศทางจะสะดวกมากยิ่งขึ้น จะเกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามมาหลายรูปแบบ ทั้งที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่จะกลายเป็นบ้านหลังหลักของคนเมือง พื้นที่ค้าปลีก เอนเตอร์เทนเมนต์

โค-เวิร์กกิ้งสเปซ ที่จะกระจุกตัวอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้าที่เป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าตั้งแต่ 2 สายขึ้นไป

ชุมชนนอกเมืองจะถูกพัฒนาให้มีความครบสมบูรณ์ในทุกๆ อย่าง ทำให้คนไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้ามาหาความศิวิไลซ์ในเมือง เพราะความเจริญจะกระจายตัวออกไปตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ   

ปัจจัยที่ 2 คือ การก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลของคนในยุคสมัยนี้ เมืองจะถูกเชื่อมต่อด้วยดิจิทัล พัฒนาไปสู่สมาร์ทซิตี้ ที่เนรมิตทุกสิ่งอย่างได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส ไลฟ์สไตล์ของคนจะเปลี่ยนไป การทำงานจะไม่ถูกจำกัดอยู่แค่การนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่ในออฟฟิศ เราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือแม้แต่ในห้องน้ำ

การใช้ชีวิตจะถูกเชื่อมโยงด้วยดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้งออนไลน์ จ่ายเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แม้แต่การซื้อบ้านสักหลัง ต่อไปจะมีตัวอย่างบ้านให้ดูด้วยระบบเสมือนจริง สามารถตัดสินใจซื้อได้ทันที ไม่ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกไปดูหลายโครงการเหมือนก่อน

ปัจจัยอีกเรื่องที่ผมเห็นว่าสำคัญ และเป็นเรื่องใกล้ตัวคนมาก แต่หลายๆ คนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว นั่นคือเรื่องของผังเมือง ที่จะเป็นตัวกำหนดการใช้ที่ดินทุกตารางนิ้วของเมือง

เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครที่มีผังเมืองบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงผังเมืองฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งก็มีพัฒนาการของกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง อย่างที่บอกไว้ พื้นที่ทุกตารางนิ้วที่มีกฎหมายผังเมืองบังคับใช้จะถูกกำหนดไว้หมดว่า สามารถใช้ประโยชน์อะไรในที่ดินแปลงนั้นได้บ้าง

ยกตัวอย่างเช่น เป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย ก็จะสนับสนุนให้สร้างเฉพาะที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องหลัก ห้ามสร้างโรงงาน ห้ามสร้างอาคารที่สูงเกินกำหนด หรือถ้าเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนให้เป็นพาณิชยกรรม ก็อนุญาตให้สร้างอาคารใหญ่ๆ ได้ สร้างห้างสรรพสินค้า
ขนาดใหญ่ได้ ขณะที่พื้ันที่อนุรักษ์เกษตรกรรม ก็ต้องไม่มีสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่จะทำลายพื้นที่สีเขียวให้หมดไป เป็นต้น

ขณะนี้ผังเมืองกรุงเทพมหานครกำลังจะเข้าสู่เวอร์ชั่นปรับปรุงครั้งที่ 4 กว่าจะเสร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้ได้เห็นใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี เท่าที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของการปรับปรุงร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ในครั้งนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับผังให้สอดรับกับรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นอีกหลายสาย และการเข้าสู่สังคมดิจิทัล สังคมคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับผังเมืองให้รองรับกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน 

ที่ผ่านมาทีมงานของผังเมือง กทม. ได้ตระเวนพูดคุยรับฟังความเห็นจากคนหลายๆ กลุ่ม ไอเดียหนึ่งที่น่าสนใจคือ การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาย่านต่างๆ ขึ้นมา หรือการเพิ่มพื้นที่สำหรับการทำงานของคนรุ่นใหม่ในสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หากสามารถทำให้เกิดขึ้นมาได้ จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมากมายมหาศาล

อีกเรื่องที่น่าสนใจในการปรับปรุงผังเมืองครั้งนี้คือ การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับคนรายได้ปานกลาง-รายได้น้อย ในที่ดินรัฐและที่ดินกึ่งรัฐที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ กทม. แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้นำมาใช้ประโยชน์ โดยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทเช่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการครอบครองที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดว่าจะต้องมีกรรมสิทธิ์ เพราะต้องย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยๆ

แนวคิดในการปรับปรุงผังเมือง กทม.เวอร์ชั่นใหม่นี้ กว่าจะสะเด็ดก็คงจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่เชื่อเถอะว่าผังเมืองจะมีส่วนอย่างมากต่อการพลิกโฉมกรุงเทพมหานครในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน