posttoday

19ปีแห่งการต่อสู้!! ศาลฎีกาสั่งเหมืองตะกั่วชดใช้ชาวบ้าน-ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

11 กันยายน 2560

ปิดฉากการรอคอย 19 ปี ชาวคลิตี้ล่าง 151 คนเฮ! ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ สั่งให้บริษัทเหมืองตะกั่วชดใช้ค่าเสียหายกว่า 36 ล้านบาท พร้อมบังคับให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

ปิดฉากการรอคอย 19 ปี ชาวคลิตี้ล่าง 151 คนเฮ! ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ สั่งให้บริษัทเหมืองตะกั่วชดใช้ค่าเสียหายกว่า 36 ล้านบาท พร้อมบังคับให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองภาภูมิ จ.กาญจนบุรี จำนวน 14 คน นำโดย นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา สภาทนายความ ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน กรรมการสิ่งแวดล้อม นายสุรสีห์ พลไชยวงศ์ ทนายความ นายวรรษภณ แสงเป่า ประธานสภาทนายความจังหวัดกาญจนบุรี ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาฎีกา ในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่าง นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน  (โจทก์) กับ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวก รวม 7 คน (จำเลย) ในข้อหาหรือฐานความผิด  ละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท และขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ โดยไม่มีตัวแทนฝ่ายจำเลยมาร่วมฟังแต่อย่างใด ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ และกลุ่มสตรีเมืองกาญจนบุรี ได้มาร่วมรับฟังคำพิพากษาในครั้งนี้ด้วย

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง จากการที่จำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิม พร้อมบังคับให้จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันรับผิด ทำการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ให้กลับคืนมาดังเดิม โดยให้เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่หน่วยงานรัฐได้วางกฎเกณฑ์ไว้

นายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเรื่องค่าเสียหายยืนตามศาลอุทธรณ์ โดยสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านจำนวน 151 คน เป็นจำนวนเงิน 36,050,000 ล้านบาท ส่วนเรื่องการฟื้นฟูลำห้วย ศาลมองว่าการที่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง 151 คนฟ้อง จากชาวบ้าน จำนวน 200-300 คน โดยเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์สาสาธารณะ ดังนั้นการกระทำของชาวบ้านจึงเป็นไปตามสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้ความคุ้มครองในการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนของพวกเขาได้ จึงมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง7 ทั้งบริษัทและกรรมการผู้จัดการทุกคน ร่วมกันรับผิด ในการฟื้นฟูรับห้วยคลิตี้ให้กลับคืนมาดังเดิมตามค่ามาตรฐานที่หน่วยงานรัฐได้วางกฎเกณฑ์ไว้

เมื่อมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ผู้ที่ถูกศาลสั่งจะต้องดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาถึงแม้จะมีคำพิพากษาของศาลออกมาแล้ว ในคดีแพ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 8 คน เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) กับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลย โดยศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 ให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 20,200,0000 บาท และให้แก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยค่าใช้จ่ายของจำเลย จนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ตามมาตรฐานของทางราชการ แต่จนถึงปัจจุบันผู้ประกอบการซึ่งเป็นจำเลยกลุ่มเดียวกันก็ยังไม่ดำเนินการฟื้นฟูแต่อย่างใด แต่หวังว่า คำพิพากษาครั้งนี้จะเป็นการย้ำ และเร่งในการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้เร็วมากขึ้น รวมทั้งหวังว่า จำเลยทั้ง 7 จะร่วมกันเร่งชดใช้ค่าเสียหายกว่า 36 ล้านบาทให้กับชาวบ้าน 151 คน โดยเร็วเช่นกัน

 

19ปีแห่งการต่อสู้!! ศาลฎีกาสั่งเหมืองตะกั่วชดใช้ชาวบ้าน-ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

ขณะที่ นายยะเสอะ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและพอใจในคำพิพากษาของศาลฎีกาในเรื่องของการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ชาวบ้านอยากให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กับคืนมาดังเดิมโดยเร็ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบการดำเนินการฟื้นฟู แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการฟื้นฟูแต่อย่างใด ซึ่งเป็นระยะเวลานานเกือบ 20 ปี ที่ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้ได้ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงได้แต่คาดหวังว่ากรมควบคุมมลพิษจะเข้ามากำกับดูแลและเร่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยเร็วที่สุด

ด้าน นางภินันท์ โชติรสเศรณี ปธ.กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ และกลุ่มสตรีเมืองกาญจนบุรี ซึ่งร่วมต่อสู้มากับชาวบ้านคลิตี้ล่าง เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจกับชาวบ้านคลิตี้ทั้ง 151 คนเป็นอย่างมาก ที่ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ เพราะคดีนี้ต่อสู้กันมายาวนานถึง 19 ปี โดยกลุ่มสตรีกาญจนบุรีได้ร่วมกันต่อสู่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน และในที่สุดก็ได้รับความยุติธรรม เราต้องการให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยา ขณะที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องเข้าไปควบคุมดูแลการฟื้นฟูลำห้วย โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการผู้ก่อมลพิษ

สำหรับค่าเสียหายที่บริษัทจะต้องชดใช้ให้กับชาวบ้านตามคำสั่งศาล มองว่าเป็นเงินไม่มากนักสำหรับบริษัท ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่บริษัทจะลบตราบาปที่ได้สร้างขึ้นกับชาวบ้าน และครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนของผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อชาวบ้านให้มาก อย่างไรก็ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในครั้งนี้ถือเป็นบรรทัดฐานที่จะนำไปเป็นแนวทางในการทำงานต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไป