posttoday

ศาลฎีกาชี้ชะตาคดีชาวคลิตี้ล่างฟ้องเรียกค่าเสียหายเหมืองตะกั่ว11ก.ย.นี้

10 กันยายน 2560

ชาวคลิตี้ล่าง 151 คน เตรียมขึ้นศาล 11 ก.ย.นี้ ลุ้นฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัทเหมืองตะกั่วหลังยื้อมานานกว่า 19 ปี

ชาวคลิตี้ล่าง 151 คน เตรียมขึ้นศาล 11 ก.ย.นี้ ลุ้นฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัทเหมืองตะกั่วหลังยื้อมานานกว่า 19 ปี

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา สภาทนายความ เปิดเผยว่า เป็นระยะเวลากว่า 19 ปี ที่ลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วปริมาณมหาศาลที่รั่วไหลมาจากโรงแต่งแร่ ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากการดื่มน้ำและกินสัตว์น้ำในลำห้วย ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยพิการและเสียชีวิต วิถีชีวิตที่เคยได้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากลำห้วยคลิตี้ ที่สะอาดบริสุทธิ์ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่แล้วปัญหานั้นก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างจริงจังทั้งจากบริษัทเอกชนเจ้าของโรงแต่งแร่ผู้ก่อมลพิษ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

ความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้ก่อมลพิษจะต้องรับผิดชอบชดใช้มากน้อยเพียงใด ปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตะกั่วในสิ่งแวดล้อมที่ผู้ก่อมลพิษและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบจะได้รับการฟื้นฟูแก้ไขหรือไม่ การฟ้องร้องดำเนินคดีของชาวบ้าน 151 คนกับบริษัทผู้ก่อมลพิษในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพิสูจน์บทบาทของกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมของไทยในการเยียวยาความทุกข์ของชาวบ้านคลิตี้ล่างและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้รับความเป็นธรรม ต่อเนื่องจากคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายของชาวบ้าน 8 คน และคดีปกครองฟ้องกรมควบคุมมลพิษให้ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก่อนหน้านี้ให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี

สำหรับข้อมูลและประเด็นแห่งคดี คดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่าง นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน  (โจทก์) กับ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวก รวม 7 คน (จำเลย) ในข้อหาหรือฐานความผิด  ละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท และขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำพิพากษา ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง จากการที่จำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิมและให้จำเลยดำเนินการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการ ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้นในประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แต่ในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูลำห้วย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้อง ขอให้บังคับเอกชนผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยได้โดยตรง แต่เป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษที่จะบังคับตามกฎหมายให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูลำห้วย หากผู้ก่อมลพิษไม่ทำ กรมควบคุมมลพิษก็มีอำนาจฟ้องศาลขอให้บังคับผู้ก่อมลพิษให้ทำได้ โจทก์จึงยื่นฎีกาในประเด็นสิทธิของชาวบ้านในการฟ้องขอให้ศาลสั่งให้เอกชนผู้ก่อมลพิษทำการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน อันเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่จะอ่านในวันที่ 11 ก.ย. 60

ในขณะที่ฝ่ายจำเลยก็ได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องอ้างว่าการรั่วไหลของสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่เป็นเหตุสุดวิสัย และผู้บริหารของบริษัท ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นการส่วนตัวร่วมกับตัวบริษัทที่เป็นนิติบุคคล

ทั้งนี้ นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลอีก 2 คดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก่อนหน้านี้ คือ คดีแพ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 8 คน เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) กับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลย โดยศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 ให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 20,200,0000 บาท และให้แก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยค่าใช้จ่ายของจำเลย  จนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ตามมาตรฐานของทางราชการและให้สงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาในส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย และค่าเสียหายเพื่อการประกอบการงานของโจทก์ทั้ง 8 ภายในระยะเวลา 2 ปี

และอีกหนึ่งคดีคือ คดีปกครองที่ชาวบ้านฟ้องกรมควบคุมมลพิษฐานละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่ากรมควบคุมมลพิษละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายจนถึงปัจจุบัน จึงพิพากษากำหนดให้กรมควบคุมมลพิษต้องปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยต้องกำหนดแผนการฟื้นฟู และตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยทุกฤดูกาลจนกว่าจะไม่เกินค่ามาตรฐาน พร้อมทั้งปิดประกาศผลการตรวจให้ชุมชนทราบ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายต่อสิทธิในการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นเงินรวมเกือบ 4 ล้านบาทด้วย