posttoday

"ภูมิสิริมังคลานุสรณ์" ตึกใหม่ รพ.จุฬาฯ เทคโนโลยีต่อชีวิตผู้ป่วย

10 กันยายน 2560

ภายใต้แนวคิด"มิติใหม่แห่งการให้เพื่อชีวิต"จึงถูกแปรเปลี่ยนเป็นอาคารใหม่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ชื่อ "ภูมิสิริมังคลานุสรณ์"

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ในโลกที่รุดหน้า และมากด้วยปัญหาภาวะแวดล้อมที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกาย อาจส่งผลให้ผู้คนเกิดเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ภาพของการแห่แหนของผู้ป่วยเพื่อให้แพทย์และพยาบาลมาเยียวยาอย่างหนาแน่น จึงกลายเป็นภาพที่คุ้นชิน โดยเฉพาะโรงพยาบาลภาครัฐ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นับเป็นหนึ่งในนั้น การผลักดัน พัฒนาความพร้อม เพื่อรองรับผู้ป่วยในสังคมเมืองกรุงที่มีมากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ

ภายใต้แนวคิด “มิติใหม่แห่งการให้เพื่อชีวิต” จึงถูกแปรเปลี่ยนเป็นอาคารใหม่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ชื่อว่า “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” เพื่อตอบโจทย์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยความพร้อมบริการทางการแพทย์มาตรฐานสากลแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างเท่าเทียม

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ เล่าว่า อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ใช้ชื่ออาคารว่า ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ซึ่งมีความหมายว่า “อนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์”

"ภูมิสิริมังคลานุสรณ์" ตึกใหม่ รพ.จุฬาฯ เทคโนโลยีต่อชีวิตผู้ป่วย

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ สะท้อนปัญหาก่อนนำไปสู่อาคารทางการแพทย์แห่งใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วยว่า ที่ผ่านมาปัญหาทางกายภาพของโรงพยาบาลจุฬาฯ คือ การกระจัดกระจายของอาคารรักษาพยาบาล ทำให้ไม่สามารถบริการผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งห้องพักผู้ป่วยไม่เพียงพอ และยังรวมถึงไม่มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยสาธารณภัยพิบัติ เมื่อเล็งเห็นปัญหา อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ในขนาด 29 ชั้น เพื่อรองรับผู้ป่วยในจำนวน 1,250 เตียง จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

โดยเฉพาะการควบรวมศูนย์ความเป็นเลิศของโรงพยาบาลจุฬาฯ ทั้ง 6 ศูนย์ ไว้ในอาคารเดียวกัน และยังมีห้องผ่าตัดรวม 62 ห้อง ที่มีเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งห้องผ่าตัด Hybrid ที่สามารถผ่าตัดหลอดเลือดใหญ่ หรือผ่าตัดสอดสายเพื่อการรักษา ห้องผ่าตัด Robotic ที่เป็นการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเพื่อเสริมความแม่นยำไม่ให้เกิดผลเสียกับผู้ป่วย อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดสดเพื่อสอนไปยังห้องประชุมทางการแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

“อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ จะเป็นมิติใหม่ของการรักษาที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพให้กับประชาชนในทุกชนชั้น และยังสร้างมิติใหม่ของการพยาบาลผู้ป่วย ที่หมายรวมถึงการทำงานร่วมกันของทุกส่วนงานของโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อเป้าหมายที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จะเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมด้วยคุณภาพของมาตรฐานสากล และผู้ป่วยที่รับการรักษาจะถูกรักษาให้จบภายในอาคารแห่งนี้” ศ.นพ.สุทธิพงศ์ พูดถึงอาคารแห่งใหม่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ

แต่อีกมิติใหม่ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลจุฬาฯ คือ ด้านบริการผ่านอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โดย ศ.นพ.รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ ฝ่ายบริการ ที่ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงว่า จะเป็นรูปแบบการบริการลักษณะ One-Stop Service จากเดิมจะมีอาคารแนวราบกระจัดกระจายรอบล้อมพื้นที่ เมื่อมีอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ การบริการจะถูกรวบรวมอยู่ในอาคารแนวดิ่งแห่งเดียว และหากเปิดบริการอย่างเต็มที่ จะสามารถรองรับผู้ป่วยในได้มากถึง 1,450 เตียง

ในรายละเอียดของความพร้อมในอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็มีการพัฒนาไม่ต่างจากอาคารแห่งใหม่ อาทิ ฝ่ายรังสีวิทยาจะมีเครื่องมือรักษามากที่สุดในประเทศไทย มีเครื่องวินิจฉัยด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก หรือ MRI รวม 4 เครื่อง เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scanner 4 เครื่อง และยังรวบรวมธนาคารเลือด ห้องเจาะเลือด ห้องเอกซเรย์มาไว้ในอาคารแห่งนี้ แน่นอนว่าจะสะดวกต่อการดูแลรักษาพยาบาล และติดตามผลการรักษาผู้ป่วยอย่างเบ็ดเสร็จ

"ภูมิสิริมังคลานุสรณ์" ตึกใหม่ รพ.จุฬาฯ เทคโนโลยีต่อชีวิตผู้ป่วย

พรทิพย์ เน้นย้ำว่า โรงพยาบาลมีเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งระบบทุกอย่างถูกออกแบบในลักษณะ Total Care จะมีความเหมาะสมในด้านภาระงานกับจำนวนพยาบาล ที่สำคัญคือเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ระบบดังกล่าวมุ่งหวังให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในทุกขั้นตอน และให้ความใส่ใจกับความต้องการด้านสุขภาพ

“แม้ว่าอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ จะเป็นอาคารแห่งใหม่ที่มากด้วยเทคโนโลยีและระบบสมัยใหม่ที่เข้ามาดูแลผู้ป่วย แต่สิ่งที่ไม่อาจลืมได้และพยาบาลได้ตั้งมั่นยึดถือพร้อมปฏิบัติอย่างไม่เปลี่ยนแปลง คือ การดูแลผู้ป่วยให้เหมือนกับญาติหรือคนในครอบครัว” พรทิพย์ ยืนยันแนวปฏิบัติของพยาบาล

การทุ่มทุนมหาศาลเพื่อตอบโจทย์การรักษาประชาชนคนไทยอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ แน่นอนว่าความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายย่อมเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและญาติต้องเกิดข้อกังวลเสมอมาเมื่อต้องเข้ารับการรักษาตัว หากคำถามที่ชัดเจนคือเมื่อเทคโนโลยีใหม่ด้านการรักษาเข้ามารองรับการบริการ ค่าบริการจะสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ ย้อนตอบคำถามนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ในเรื่องราคาไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล เพราะยืนยันได้ว่าประชาชนคนไทยทุกคนที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นสิทธิใดก็ตาม ก็สามารถเข้ารับบริการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ภายใต้อาคารแห่งใหม่นี้ได้ทุกคน

“ผมขอย้ำว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามสิทธิของตนเอง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมจะมีเพียงค่าเตียงเท่านั้น ซึ่งราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 900 บาทไปจนถึง 1.2 หมื่นบาท ซึ่งให้ประชาชนคนไทยที่มีความหลากหลายได้เลือกใช้บริการ แต่ด้านการรักษาพยาบาล ผมยืนยันได้ว่า ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ก็จะได้รับการรักษาแบบเดียวกันและเหมือนกัน เราไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ หรือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น” คำตอบที่ชัดเจนจาก ศ.นพ.สุทธิพงศ์

อาคารรูปแบบใหม่ตั้งตระหง่านริมถนนราชดำริ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ความสะอาด แอร์เย็น ทุกอย่างจัดเป็นระเบียบเรียบร้อยลบภาพเดิมของโรงพยาบาลรัฐไปแทบจะทั้งหมด และพร้อมให้บริการกับบคนไทยทุกคนในด้านสุขภาพอย่างแท้จริง

ท้ายสุด จาก ศ.นพ.สุทธิพงศ์ ที่เน้นย้ำว่า โรงพยาบาลจุฬาฯ จะทำงานภายใต้พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์รับสั่งไว้ว่า อยากให้โรงพยาบาลจุฬาฯ รับใช้ประชาชนอย่างดีที่สุด เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะน้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติงานเพื่อคนไทยทุกคน เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านให้ดีอย่างที่สุด