posttoday

ภูเก็ตเล็งใช้โดรน ลาดตระเวนทะเลเฝ้าระวังจระเข้

09 กันยายน 2560

ผู้ว่าฯภูเก็ตเผยกำลังของบซื้อโดรนสำรวจทะเลเฝ้าระวังจระเข้ขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมั่นใจความปลอดภัย

อชัถยา ชื่นนิรันดร์

หลังจากมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถ่ายภาพด้วยโดรนพบเห็น จระเข้ ว่ายน้ำอยู่บริเวณหาดบางเทา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ทำให้ นรภัทร ปลอดทอง ผวจ.ภูเก็ต ตั้งทีมปฏิบัติการไล่ล่าจระเข้ตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ว่ายน้ำไปอยู่ในขุมเหมืองขนาดใหญ่บริเวณใกล้เคียงกับจุดที่พบเห็นครั้งแรก

ในที่สุดทีมสามารถจับตัวจระเข้ได้เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยใช้เรือ 3 ลำเจ้าหน้าที่ 10 คน จาก สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต ชุดไกรทองลุ่มแม่น้ำตาปี ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืด ภาคใต้สุราษฎร์ธานี ตลอดทั้งชาวประมงพื้นบ้านปากบางจากป่าตองและเจ้าหน้าที่ Phuket Crocodile World ใช้อวนล้อมจระเข้ขนาดหน้ากว้าง 1,000 เมตร ลึก 10 เมตร

จากนั้นนำจระเข้ไปพักฟื้นที่บ่อพักของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต ส่งผลให้จระเข้มีอาการซึมเศร้า นำมาสู่การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียล หลากหลายนานาทรรศนะในการจัดการจระเข้ตัวดังกล่าว มีทั้งกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่ปล่อยจระเข้กลับสู่ท้องทะเลนรภัทร กล่าวว่า เรื่องจระเข้ตัวดังกล่าว ทาง จ.ภูเก็ต ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมประมง เพื่อให้จัดการตัดสินใจกับจระเข้ว่าจะมอบแก่หน่วยงานใดหรือสถานีเพาะเลี้ยงที่มีศักยภาพหรือสวนสัตว์หรือให้อยู่ในจุดที่เขาสามารถอยู่ได้

“เรื่องนี้มั่นใจว่าจะดูแลนักท่องเที่ยวได้เพราะว่าปกติแล้วแต่ละหาดเรามีไลฟ์การ์ดอยู่แล้ว ได้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านละแวกชายฝั่งที่มีเรือช่วยกันตรวจสอบ เฝ้าระวังและช่วงนี้ปกติไม่สามารถออกไปนอกชายฝั่งได้เนื่องจากเป็นช่วงมรสุมลมแรง ดังนั้นเหตุการณ์นี้ไม่น่ามีอะไรน่ากังวล ขอความมั่นใจว่าปลอดภัยแน่นอนไม่มีอะไร เราได้เพิ่มความเข้มข้น แจ้งเตือนทั้งหมด และกำลังของบซื้อโดรนเพื่อสำรวจตรวจสอบในพื้นที่ ตรวจดูความ แปลกปลอมผิดปกติต่างๆ ขอให้ประชาชนนักท่องเที่ยวได้มั่นใจในการท่องเที่ยวทะเลภูเก็ต” นรภัทร กล่าว

กนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต บอกว่า การพบจระเข้และจับกุมได้ในภูเก็ตนั้นไม่กระทบนักท่องเที่ยว แต่เป็นประเด็นดราม่าในโซเชียลในการปล่อยหรือไม่ปล่อยลงที่เดิมหรือไม่

“ททท.ภูเก็ต มองว่า ธรรมชาติในทะเล มีสัตว์น้ำอาศัยมากมาย ทั้ง ปลา จระเข้ ฯลฯ ในระบบนิเวศ ดังนั้นไม่น่ากระทบนักท่องเที่ยว ซึ่งอัตราเข้าพักของโรงแรมในแถบที่พบจระเข้ มีนักท่องเที่ยวเข้าพักถือว่ายังดีมาก โดยอัตราเข้าพักกว่า 80%”กนกกิตติกา กล่าว

สถิรพงศ์ ณ ตะกั่วทุ่ง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เรื่องจระเข้ ที่จับตัวได้ไม่น่ากระทบการท่องเที่ยว ถ้ามีการเฝ้าดูกันทั้งกลางวันและกลางคืนจะเห็นตัวง่าย ถ้าเฝ้าดูแล้วใน 1 เดือนนับจากนี้ไม่พบจระเข้อีกเป็นอันว่าจบเรื่องนี้ ดังนั้นขอฝากถึงนักท่องเที่ยวขอให้มั่นใจในการสร้างความปลอดภัยของทุกหน่วยงานในภูเก็ตเข้ามาท่องเที่ยวได้ปกติ

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า ได้นำสัตวแพทย์ตรวจพิสูจน์สุข ภาพตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สายพันธุ์จระเข้ดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 อาทิตย์เพื่อทำดีเอ็นเอแบงก์ไว้อ้างอิงในอนาคต

“การจับจระเข้ตรวจเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา มีทีมไกรทอง 1 และ 2 จากสุราษฏร์ธานีมาช่วยกันจับมัดปากจระเข้ใช้กระสอบให้บอบช้ำน้อยที่สุดให้ปลอดภัยตรวจจากปลายจมูกถึงปลายหางวัดความยาวเก็บตัวอย่างเลือดเซลล์เยื่อบุต่างๆ แนวทางสำคัญต้องตรวจว่าสายพันธุ์แท้หรือกึ่งแท้ จากนั้นทำให้มันอยู่ดีที่สุดถ้าเป็นจระเข้น้ำเค็มต้องอยู่ในธรรมชาติที่เหมาะสมปลอดภัย ถ้าเป็นกึ่งไฮบริดจ์หรือลูกผสมต้องไปอยู่ในที่เหมาะสมต่อคน สัตว์ระบบนิเวศ” ปิ่นสักก์ กล่าว

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ดีเอ็นเอจะพิสูจน์ได้ว่าจระเข้จะเป็นสายพันธุ์แท้ธรรมชาติหรือลูกผสม กรณีที่เป็นสายพันธุ์แท้ต้องปล่อยคืนธรรมชาติ ถามว่า ที่ไหน ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของพื้นที่ว่าจะยินดีนำไปล่อยตรงไหนส่วนไหนของ จ.ภูเก็ต แต่ถ้าสมมติเป็นที่อื่นของอุทยานแห่งชาติฯ ต้องปรึกษานักวิชาการดูอาจเป็นอุทยานแห่งชาติฯ ที่ห่างไกล ไม่มีคน ซึ่งมีตัวเลือกหลายแห่งพอสมควร ในส่วนถ้าเป็นสายพันธุ์ลูกผสมคงปล่อยคืนสู่พื้นที่กึ่งปิดมีธรรมชาติกั้นคอกไว้ ต้องมีการดูกันว่าควรจะอยู่แถวไหนของภูเก็ตจะว่ากันอีกที

“ผมได้เสนออย่างชัดเจนในเรื่องนี้ จระเข้น้ำเค็มข้อมูลทางวิชาการไม่มีมานานแล้วตอนนี้เริ่มมีที่ จ.กระบี่ มาที่ภูเก็ต และอาจมีที่อื่นอีกด้วย เราควรเริ่มทำการสำรวจใหม่ให้ชัดเจนตามป่าชายเลนของ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และบางพื้นที่ในอ่าวไทยเพื่อให้พิสูจน์ชัดว่ามันยังมีแหล่งอาศัยทางธรรมชาติของจระเข้น้ำเค็มอยู่ เพราะบางตัวอาจอพยพเข้ามาทางเมียนมา มาเลเซีย ก็เป็นไปได้” ธรณ์ กล่าว

จระเข้ตัวดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องคนในพื้นที่ที่จะร่วมกันตัดสินใจกับหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ใน จ.ภูเก็ต ว่าจะเอา อย่างไร ถ้าเป็นจระเข้น้ำเค็มโดยธรรมชาติก็ต้องปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่เหมาะสมต่อไป