posttoday

เปิดใช้อุโมงค์บางซื่อ 6 ก.ย. ความหวังป้องกันน้ำท่วม??

07 กันยายน 2560

หนึ่งในการแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่

โดย…นิติพันธุ์ สุขอรุณ

หนึ่งในการแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) คือการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ รับน้ำจากคลองลาดพร้าวเริ่มที่บริเวณถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย งบประมาณก่อสร้างจำนวน 2,483 ล้านบาท เตรียมเปิดใช้งานเต็มระบบในวันที่ 6 ก.ย.นี้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากการทดสอบเดินเครื่องสูบน้ำและห้องควบคุม เพื่อตรวจสอบระบบไฟฟ้าสำหรับอุโมงค์ระบายน้ำ ของสถานีสูบน้ำขนาด 60 ลบ.ม./วินาที พร้อมด้วยระบบเครื่องกลและไฟฟ้าอาคารรับน้ำ 3 แห่ง พบว่าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯในช่วงฤดูฝนของทุกปี ยกเว้นกรณีที่มีฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้มีน้ำท่วมขังอยู่บ้าง แต่เชื่อจะเร่งระบายน้ำได้รวดเร็วกว่าเดิมไม่น้อยกว่า 50%

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ มีวัตถุประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนพื้นที่ 6 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และเขตห้วยขวาง รวมพื้นที่ประมาณ 56 ตารางกิโลเมตรมีความสามารถแก้ปัญหาพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง เช่น บริเวณถนนพหลโยธิน ช่วงสี่แยกสะพานควาย-ห้าแยกลาดพร้าว , ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงสี่แยกสุทธิสาร-ห้าแยกลาดพร้าว ,ถนนรัชดาภิเษก ช่วงสี่แยกรัชโยธิน-คลองบางซื่อ ถนนลาดพร้าว ช่วงสี่แยกรัชดาลาดพร้าว-คลองบางซื่อ และถนนสามเสน ช่วงคลองบางกระบือ-สี่แยกเกียกกาย

เปิดใช้อุโมงค์บางซื่อ 6 ก.ย. ความหวังป้องกันน้ำท่วม??

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า อุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อ ถือเป็นอุโมงค์แห่งที่ 8 มีความกว้างเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 5 เมตร และยาว 6.4 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2556 ช่วยลำเลียงน้ำจากพื้นที่เขตต่างๆ ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง เป็นการลดระยะเวลาการเดินทางของน้ำและระบายน้ำได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคือ อุโมงค์บึงหนองบอน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ 85 ตารางกิโลเมตรในเขตพระโขนง ประเวศ สวนหลวง วัฒนา และคลองเตย คาดว่าเสร็จสิ้นภายในปี 2562 พร้อมกันนี้ยังทำการศึกษาเพิ่มเติมก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำอีก 4  แห่งคือ 1.อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-คลองลาดพร้าว 2.อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา 3.อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร และ4.อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวอีกว่า อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมขังให้หมดไปจากกรุงเทพฯได้ แต่ต้องพัฒนาระบบควบคู่กันหลายด้าน เช่น การเร่งลำเลียงน้ำให้ระบายได้รวดเร็ว แก้ปัญหาบ้านเรือนรุกล้ำกีดขวางทางน้ำ แก้ปัญหาขยะสิ่งปฏิกูลอุดตันท่อ โดยกทม.กำลังดำเนินการเพื่อให้เป้าหมายทั้งหมดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยรัฐบาลมอบหมายให้ กทม. ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำในถนนสายหลักในกรุงเทพฯ จำนวน 11 พื้นที่ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้หมดไป และเนื่องจากโครงการส่งผลกระทบต่อการจราจรในเมืองอย่างมาก ดังนั้นแผนระยะเวลาการก่อสร้างทั้ง 11 จุด จะมีระยะเวลาเฉลี่ย 1 ปีครึ่ง เพื่อให้ผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด” จักกพันธุ์ กล่าว

เปิดใช้อุโมงค์บางซื่อ 6 ก.ย. ความหวังป้องกันน้ำท่วม??

ทั้งนี้ ได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต สถานีตำรวจพื้นที่ และหน่วยงานสาธารณูปโภค จัดทำแผนการใช้พื้นที่ก่อสร้างของแต่ละโครงการ เช่น  แผนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคและแผนจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างรวมถึงการประชาสัมพันธ์ โดยให้บริษัทผู้รับจ้างเร่งจัดทำแผนดังกล่าว ให้แล้วเสร็จนำส่งสำนักการระบายน้ำภายในวันที่ 15 ก.ย. นี้

สำหรับโครงการระบายน้ำบนถนนสายหลัก 11 จุด อาทิ โครงการ สร้างระบบระบายน้ำถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมซอยสุขุมวิท 31 โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และ โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

“กรุงเทพฯเป็นเมืองปลายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งผืนดินมีลักษณะเป็นดินอ่อนจึงมีการทรุดตัวเฉลี่ยปีละ 1-2 เซนติเมตร จึงทำให้เกิดพื้นที่แอ่งกระทะขึ้นหลายแห่ง เมื่อฝนตกลงมาจึงเกิดน้ำท่วมระบายออกโดยธรรมชาติไม่ทัน ประกอบกับมีการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น สร้างตึกสูง อาคารสำนักงาน บ้านพักที่อยู่อาศัยมีการถมที่ดินให้สูงขึ้น รวมไปถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการใช้น้ำทิ้งจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน”จักกพันธุ์ กล่าว