posttoday

40 ปี วอยเอเจอร์

03 กันยายน 2560

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ยานอวกาศคู่แฝดถูกส่งออกไปจากโลกเพื่อสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ยานวอยเอเจอร์ 1

โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ยานอวกาศคู่แฝดถูกส่งออกไปจากโลกเพื่อสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ยานวอยเอเจอร์ 1 เดินทางไปเฉียดใกล้ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ขณะที่วอยเอเจอร์ 2 ถูกส่งไปผ่านใกล้ดาวเคราะห์ชั้นนอกทั้ง 4 ดวง

วันที่ 20 ส.ค. 2520 วอยเอเจอร์ 2 ถูกนำขึ้นสู่อวกาศ หลังจากนั้นราว 2 สัปดาห์ ยานวอยเอเจอร์ 1 ก็ตามขึ้นไปในวันที่ 5 ก.ย. (สังเกตว่ายานวอยเอเจอร์ 2 ถูกส่งขึ้นไปก่อนยานวอยเอเจอร์ 1) ยานอวกาศทั้งสองมีเส้นทางการเคลื่อนที่คล้ายกันในช่วงแรกหลังออกจากโลก แม้วอยเอเจอร์ 1 จะส่งขึ้นไปทีหลัง แต่ก็แซงหน้าวอยเอเจอร์ 2 ในเดือน ธ.ค. 2520 และเดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดีก่อนวอยเอเจอร์ 2

วอยเอเจอร์ทั้งสองลำสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการสำรวจอวกาศ ปลายเดือน ส.ค. 2555 วอยเอเจอร์ 1 เป็นยานลำแรกที่เดินทางข้ามผ่านบริเวณซึ่งอนุภาคจากดวงอาทิตย์ปะทะกับอนุภาคซึ่งมาจากที่อื่น แล้วออกสู่บริเวณอวกาศระหว่างดาว ขณะที่ยานวอยเอเจอร์ 2 เดินทางไปผ่านใกล้ดาวเคราะห์ 4 ดวง ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน เป็นยานลำแรกและลำเดียวนับถึงขณะนี้ที่เข้าใกล้ดาวยูเรนัสและเนปจูน

นอกจากการสำรวจดาวเคราะห์แล้ว การเข้าใกล้ดาวบริวารของดาวเคราะห์ก็ทำให้วอยเอเจอร์ค้นพบภูเขาไฟที่กำลังปะทุอยู่บนไอโอ ซึ่งเป็นดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี นับเป็นภูเขาไฟมีพลังแห่งแรกที่ค้นพบนอกโลก และพบว่ามีความเป็นไปได้ที่ใต้ผิวของยูโรปาเป็นน้ำแข็ง

สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาสำหรับยานวอยเอเจอร์คือยานได้รับการออกแบบให้มีจานวิทยุเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.7 เมตร สำหรับใช้ในการส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุด้วยกำลังขยายสูง จึงยังคงสามารถติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายบนโลกได้แม้เดินทางออกไปไกลจากโลกมาก

นอกเหนือจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 11 ชิ้น ที่ติดตั้งบนยานวอยเอเจอร์ องค์การนาซ่ายังได้บรรจุแผ่นจานทองคำขนาด 12 นิ้ว ซึ่งภายในมีภาพและเสียงต่างๆ บ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมบนโลก มีเสียงทักทายในภาษาต่างๆ หลายสิบภาษาทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทย โดยภาษาไทยเป็นเสียงสตรีกล่าวว่า “สวัสดีค่ะ สหายในธรณีโพ้น พวกเราในธรณีนี้ ขอส่งมิตรจิตมาถึงท่านทุกคน”

ปกของแผ่นจานซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการชนของอุกกาบาตขนาดเล็กก็มีภาพแสดงสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์และสัญลักษณ์อื่นๆ ซึ่งหากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกหรือมนุษย์ในอนาคตมาพบเข้าจะสามารถทราบถึงวิธีการเล่นแผ่นจานดังกล่าวให้เกิดภาพและเสียงได้

40 ปี วอยเอเจอร์

 

ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย. 2560 ยานวอยเอเจอร์ 1 อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 140 หน่วยดาราศาสตร์ (หน่วยดาราศาสตร์คือระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์) เป็นสิ่งประดิษฐ์โดยมนุษย์ที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุดในขณะนี้ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 61,200 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ สัญญาณวิทยุใช้เวลาเดินทางจากยานถึงโลกนาน 19 ชั่วโมงเศษ

ยานวอยเอเจอร์ 2 อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 115 หน่วยดาราศาสตร์ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 55,300 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ สัญญาณวิทยุใช้เวลาเดินทางจากยานถึงโลกนานเกือบ 16 ชั่วโมง

แม้ว่ายานวอยเอเจอร์ 1 และ 2 จะเดินทางออกไปไกลจากโลกและดวงอาทิตย์มากแล้ว แต่ปัจจุบันองค์การนาซ่ายังคงสามารถติดต่อกับยานทั้งสองได้โดยมีแหล่งพลังงานจากการสลายตัวของพลูโทเนียม-238 และคาดว่าพลังงานจะเหลือพอสำหรับการทำงานของอุปกรณ์บนยานและการสื่อสารระหว่างยานกับโลกไปได้ถึงราว ค.ศ. 2030

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (3-10 ก.ย.)

เวลาหัวค่ำยังคงเห็นดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่างอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาวทางทิศตะวันตก แต่ช่วงเวลาที่ดาวพฤหัสบดีอยู่บนท้องฟ้าเวลากลางคืนสั้นลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากดาวพฤหัสบดีทำมุมเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ต้นเดือน ก.ย.ตกลับขอบฟ้าในเวลาเกือบ 3 ทุ่ม ปลายเดือนตกในเวลา 1 ทุ่มเศษ

ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวนี้คั่นอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับคนยิงธนู หลังดวงอาทิตย์ตก เมื่อท้องฟ้ามืดลงพอสมควรแล้ว จะเห็นดาวเสาร์อยู่สูงบนท้องฟ้าด้านทิศใต้ หลังจากนั้นเคลื่อนต่ำลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สังเกตได้จนกระทั่งใกล้ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืน

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์สว่างอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวปูตลอดทั้งสัปดาห์ โดยจะเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโตในสัปดาห์ถัดไป หากท้องฟ้าเปิดจะเริ่มเห็นดาวศุกร์อยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกตั้งแต่หลังตี 4 เล็กน้อย จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้น สังเกตได้จนกระทั่งแสงของดวงอาทิตย์ทำให้ท้องฟ้าสว่างกลบแสงของดาวศุกร์

สัปดาห์นี้ดาวพุธและดาวอังคารทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นจนเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดบริเวณกลุ่มดาวสิงโต ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์และสว่างมากขึ้นตลอดสัปดาห์ ส่วนดาวอังคารสว่างน้อยกว่าและอาจสังเกตได้ยากกว่ามาก ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงอยู่ใกล้ดาวหัวใจสิงห์ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ดวงที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวสิงโต ดาวพุธเข้าใกล้ดาวหัวใจสิงห์มากที่สุดในเช้ามืดวันที่ 10-11 ก.ย. ที่ระยะห่างราว 0.7 องศา วิธีหาดาวพุธและดาวหัวใจสิงห์ที่ง่ายที่สุดคือสังเกตจากดาวศุกร์ โดยดาวพุธจะอยู่ในทิศทางใกล้เคียงกับดาวศุกร์ แต่อยู่ใกล้ขอบฟ้ามากกว่า

ต้นสัปดาห์เป็นช่วงท้ายๆ ของข้างขึ้น มองเห็นดวงจันทร์สว่างค่อนดวงอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ วันที่ 6 ก.ย. ดวงจันทร์สว่างเต็มดวง หลังจากนั้นเข้าสู่ข้างแรม