posttoday

คนกทม.เมินระบบขนส่งสาธารณะยังใช้ยานพาหนะส่วนตัว

01 กันยายน 2560

สนข.เผยเผยตัวเลขคนกทม.ใช้บริการขนส่งสาธารณะเพียง 10% ขณะที่อีก 11.7 ล้านคนใช้ยานพาหะส่วนตัว-สนข.แนะใช้ตั๋วร่วมแก้ปัญหาจราจรเมืองหลวง

สนข.เผยเผยตัวเลขคนกทม.ใช้บริการขนส่งสาธารณะเพียง 10% ขณะที่อีก 11.7 ล้านคนใช้ยานพาหะส่วนตัว-สนข.แนะใช้ตั๋วร่วมแก้ปัญหาจราจรเมืองหลวง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เปิดเผยว่าปัจจุบันมีผู้ที่ลงทะเบียนเป็นประชากรในกรุงเทพฯ 5 ล้านคน แต่มีประชากรแฝงอีก 8 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 13 ล้านคน ขณะที่การเดินทางก็มีหลากหลาย ทั้งทางรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟฟ้าต่างๆ มีถนน 600 เส้นทาง และมีรถยนต์จำนวน 8 ล้านคัน ปัจจุบันพบว่าสัดส่วนการเดินทางของคนกรุงเทพฯใช้ระบบขนส่งสาธารณะ คือ รถเมล์ ส่วนรถไฟฟ้าเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมกันอยู่ที่ประมาณ 8% คิดเป็นจำนวน 1.04 ล้านคน และที่ใช้มากสุด คือ รถยนต์ส่วนบุคคล และมอเตอร์ไซค์ อยู่ที่ 90% คิดเป็นจำนวน 11.7 ล้านคน แต่เมื่อมีการดำเนินการตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า 10 สายเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้พฤติกรรมการเดินทางเปลี่ยน แม้จะมีรถยนต์ส่วนตัวก็จะใช้รถสาธารณะ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการเดินทางด้วยรถสาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 30% สามารถลดการสูญเสียพลังงาน ลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม และลดอุบัติเหตุลงได้ คาดว่าอีกประมาณ 4-5 ปี จะเห็นการเพิ่มขึ้นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาการจราจรแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพมาหนครเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ2,000 คันขณะที่ถนนมีจำกัด ซึ่งหากประชาชนในกทม.และปริมณฑล ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 14 ล้านคน หันมาใช้บัตรแมงมุมจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้มาก สำหรับบัตรแมง มุม จะแบ่งออกเป็น 3ประเภท คือบัตรบุคคลทั่วไปสีน้ำเงิน บัตรนักเรียน/นักศึกษาสีทอง บัตรผู้สูงอายุสีเทา โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะสามารถขออายัดวงเงินได้ในกรณีบัตรหาย

ด้านนายบูรณินทร์ ลัภนะกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจคอนโด บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า รถไฟฟ้ามีผลอย่างมากในการเดินทางของประชาชน และส่งผลให้เกิดการเดินทางมากขึ้น ซึ่งในส่วนของบริษัทเองก็มีการพิจารณาพื้นที่บริเวณโดยรอบแต่ละสถานีว่าจะสามารถพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างไรได้บ้าง โดยคนยุคใหม่มองว่าคอนโดไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการซื้อเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตด้วย ดังนั้นคอนโดหลายโครงจึงอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ คือ เมื่อรัฐประกาศแนวเส้นทางที่จะมีโครงการรถไฟฟ้า ที่ดินก็ปรับขึ้นทันทีเหมือนกัน