posttoday

ขอที่ยืนให้ผู้เจ็บป่วยทางจิต หยุดเรียกเขาว่า"ไอ้บ้า"

01 กันยายน 2560

ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงทัศนคติและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยโรคจิตเวชในสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด 

น่าตกไม่น้อยกับข้อมูลจากสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า คนไทยเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีความรู้ความเข้าใจในผู้ป่วยและโรคทางจิตเวชน้อยมาก จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งการไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการรักษา ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ

โดยในประชากรทุก 10 คน จะมีโอกาสเจ็บป่วยทางจิต 1 คน และอัตราความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1 ต่อ 5 สำหรับโอกาสการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า

สาเหตุสำคัญคือความไม่เข้าใจของสังคมต่อความเจ็บป่วยทางใจ จนนำไปสู่ความอาย ความกลัว การปฏิเสธการรักษา และการไม่ให้ที่ยืนกับผู้ป่วยใจ

ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในประเทศต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้ป่วยด้วยความเข้าอกเข้าใจ ให้โอกาสและที่ยืนแก่พวกเขา เมื่อมนุษย์เราต่างมีช่วงเวลาอันน่าผิดหวัง ท้อแท้และไม่เป็นตัวของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

 

ขอที่ยืนให้ผู้เจ็บป่วยทางจิต หยุดเรียกเขาว่า"ไอ้บ้า"

ไอ้คนบ้า เลิกพูดซะทีเถอะคำนี้ 

ความรู้ความเข้าใจต่อผู้ป่วยทางจิตนับเป็นพื้นฐานสำคัญมากต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม 

นุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย บอกว่า สังคมไทยยังมีทัศนคติและความคิดในทางลบต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต โดยเฉพาะผู้ป่วยตามชนบท ครอบครัวที่มีผู้ป่วยมักปิดกั้นให้อยู่แต่ภายในบ้าน เพราะเกรงว่า หากคนในชุมชนทราบจะไม่ได้รับการยอมรับ

“พวกเขาถูกมองจนทำให้ไม่มีความเชื่อมั่นใจตัวเอง สิ่งที่เราไม่อยากได้ยินก็คือ  ไอ้นี่คนบ้า พอป่วยแล้วถ้าเป็นภาคเหนือก็บอกว่า ผีบ้า ”

“บางรายไม่กล้าบอกชื่อ เพราะครอบครัวห้าม อย่าให้ใครรู้นะ กลัวสังคมรู้ว่าครอบครัวฉันมีคนป่วย เพราะคิดว่าจะกระทบกับตัวเองหรือพี่น้องคนอื่น หรือเวลาขึ้นแท็กซี่ เราบอกไปส่งศรีธัญญาหน่อย เขาปฏิเสธทันที หรือแม้กระทั่งถามว่า ผมจะติดเชื้อบ้าไหม มันสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในสังคมไทยต่อผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาก”

นุชจารี บอกว่า สมาคมฯ พยายามดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างถูกวิธีและมีกระบวนการฟื้นฟูอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถก้าวออกไปยืนในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดูแลตัวเองและช่วยเหลือครอบครัวได้ รวมถึงได้รับโอกาสจากนายจ้าง

“เมื่อบอกว่าเรามาจากสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต เขามักบอกว่า รอก่อนได้ไหม ขอปรึกษากันก่อน กลัวไว้ก่อน กลัวเป็นคนบ้ามาสมัครงาน เดี๋ยวไปทำร้ายคนโน้นคนนี้”

อย่างไรก็ตามเธอบอกว่า นอกจากเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้จ้างงานแล้ว ยังต้องพัฒนาผู้ป่วยให้สามารถเข้าใจตนเองจนสามารถทำงานได้อย่างแท้จริงด้วย มิใช่ไปสร้างปัญหาให้กับองค์กร

นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต เห็นว่า ถึงเวลาที่สังคมควรทราบและเข้าใจเสียที ความพิการทางจิตไม่ใช่ความพิการถาวรและสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลรักษาและมีกระบวนการเยียวยาที่ดี โดยทุกๆ 8 ปี เมื่อถึงเวลาทำบัตรผู้ป่วยจิตเวชหรือคนพิการทางจิตใจ แพทย์จะประเมินความพิการ หากเห็นว่าสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่เข้าข่ายบกพร่องพิการ แพทย์จะไม่ต่อบัตรคนพิการให้ เป็นเพียงแค่ผู้ป่วยที่ยังต้องกินยาตามคำแนะนำเท่านั้น

ทั้งนี้สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยเกิดจากการรวมกลุ่มของครอบครัวที่มีผู้ป่วยทางจิตอยู่ในครอบครัว รวมถึงจิตอาสา หลังเห็นปัญหาด้านทัศนคติและความไม่เข้าใจผู้ป่วยในสังคมไทย โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1 แสนคน

“ผู้ป่วยหลายคน เดิมอยู่แต่ในบ้าน เหมือนตกอยู่ในโลกของความมืด วันหนึ่งมีโอกาสเข้ามาอยู่ในสมาคมฯ เขาบอกว่า สังคมนี้ยังมีแสงสว่าง และบอกตัวเองว่า เขาจะไม่อยู่ในมุมมืดอีกต่อไป และจะทำให้คนอื่นเห็นแสงสว่างเหมือนกับเขา”

 

ขอที่ยืนให้ผู้เจ็บป่วยทางจิต หยุดเรียกเขาว่า"ไอ้บ้า" นุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย

 

คนไทยยังไม่เข้าใจเรื่องโรคจิต

ไขศรี วิสุทธิพิเนตร นักเขียนผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ การเป็นผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์และโรคซึมเศร้าในงานเขียน ผ่านหนังสือเรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง เล่าว่า หลังจากหายป่วยมีโอกาสไปร่วมงานกับองค์กรระดับครอบครัวในคอร์สอบรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวช พบว่า หลายเคสที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงวัยรุ่นระดับมัธยมปลาย คุณพ่อคุณแม่รู้สึกทุกข์มากเพราะไม่ทราบว่าจะช่วยเหลือลูกเขาอย่างไร

ขณะที่เด็กจำนวนมากเมื่อป่วย ทางโรงเรียนจะขอร้องให้เด็กหยุดเรียน ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นเหมือนการผลักเด็กเข้าไปอยู่ในห้องส่วนตัวและทำให้เห็นภาพชัดว่า สถาบันต่างๆ ในสังคมยังไม่มีความเข้าใจเรื่องโรคทางจิตเวชดีพอ

“เมื่อเจ็บป่วยแล้วยังไงก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อบำบัดรักษา ขณะที่ผู้ปกครองต้องเรียนรู้วิธีสื่อสารและสะท้อนความรู้สึกของคนที่เรารักออกมา จริงๆ การจะผ่านพ้นความอาการเจ็บป่วยไปได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันเป็นเรื่องของความอดทน”

ไขศรี ยังเห็นว่า โลกใบนี้ไม่ว่าใครก็สร้างปัญหาให้กับสังคมได้ด้วยกันทั้งนั้น อยากให้สังคมมองอีกมุมว่า หลายๆ ครั้งที่เราอดทนกับปัญหาจากคนปกติได้ ทำไมเราถึงอดทนกับคนป่วยทางจิตและให้โอกาสเขาบ้างไม่ได้  

ขอที่ยืนให้ผู้เจ็บป่วยทางจิต หยุดเรียกเขาว่า"ไอ้บ้า" บอย โกสิยพงษ์

บทเรียนจากบอย โกสิยพงษ์ “อยู่กับสิ่งที่มีและทำให้ดีที่สุด”

ภาวะไม่ปกติทางจิตเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำกัดฐานะว่าจะรวยหรือจนและใครจะรู้ว่า บอย โกสิยพงษ์ นักแต่งเพลงชื่อดัง ก็เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเช่นกัน 

บอย บอกพร้อมกับตั้งคำถามไปพร้อมๆ กันว่า “โลกนี้ใครบ้างที่สมบูรณ์ ผมว่าไม่มีและเป็นไปไม่ได้ ผมเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเเละคิดว่าทุกคนต้องเคยเป็นเพียงเเต่ไม่รู้ ทุกคนมีเวลาที่เศร้าสูญเสียและไม่สามารถออกมาจากความเจ็บปวดนั้นได้”

ครึ่งหนึ่งในอดีตบอยเผชิญกับความเศร้าหลังจากสูญเสียคนในครอบครัวที่ตัวเองรักอย่างต่อเนื่อง คนแล้วคนเล่า 

“ครอบครัวเราสนิทกันมากทั้งพี่ชายพี่เขยคุณยาย พ่อ แม่ แต่ห้าปีนั้นเป็นช่วงที่เสียชีวิตไปทีละคน จนผมรู้สึกว่าไม่ไหวเเล้ว เศร้ากับชีวิตมาก อะไรจะเยอะขนาดนั้น จนกระทั่งพ่อเสีย นั่นคือคนที่ 4 ผมสนิทกันกับพ่อมากตั้งเเต่เด็ก

“แรกๆ ที่พ่อเสีย เราพยายามจะเข้มแข็งทำใจยอมรับ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ข้างในเราไม่ได้ยอมรับ เราใช้เวลานอน ตื่นขึ้นมาเพื่อจะนอนต่อ เป็นแบบนี้อยู่หนึ่งเดือน ไม่ไปทำงาน ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น จนภรรยาร้องไห้เพราะไม่อยากเห็นเราเป็นแบบนี้” 

บอยตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ จนทราบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า คุณหมอให้ยาปรับสารเคมีในร่างกายจนเริ่มได้สติรู้สึกตัวว่า ต้องลุกขึ้นมาเพื่อเดินหน้าอีกครั้ง

“เรากลับมานั่งคิดว่าทำยังไงที่จะอยู่ในสถานะไม่มีพ่อ เป็นลูกกำพร้าได้ เลยนึกถึงคำที่พ่อสอนว่าให้อยู่กับสิ่งที่มีและทำให้ดีที่สุด ก็เลยแต่งเป็นเพลงLive and Learn ขึ้นมาเพื่อที่จะสอนใจตัวเอง หลังจากนั้นผมก็หลุดออกมาได้”

“พ่อผมสอนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กแล้วว่า ให้เราอยู่กับสิ่งที่มีและทำให้ดีที่สุด เรานึกในใจว่า ถ้าพ่อยังอยู่เขาจะพูดอะไรกับเรา....ซึ่งพ่อก็คงพูดคำนี้เหมือนเดิม มันทำให้ผมคิดได้ว่า สิ่งที่พ่อสอนมันก็ยังอยู่ในสายเลือดของเรา เลือดของเรายังมีพ่ออยู่เสมอ” นักแต่งเพลงชื่อดังย้อนความถึงอดีตเมื่อราวปี 2004 ที่สลัดความผิดหวังได้อย่างงดงาม

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเขากลับมาเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้ง หลังจากต้องเผชิญหน้ากับความเหงา อยู่บ้านเพียงคนเดียวโดยไร้ภรรยาและลูกๆ

“คนโตไปเรียนต่อต่างประเทศ คนเล็กต้องการไปฝึกไอซ์สเก็ตที่อเมริกา ภรรยาผมก็ต้องไปดูแลเขา ผมเป็นคนเซนซิทีฟกับการไม่ได้อยู่ด้วยกัน เราเข้มแข็งไม่พอที่จะเสถียรในทุกๆ วัน ช่วงที่ผ่านมาเลยกลับมาเป็นโรคซึมเศร้า ทานยาอีกครั้งเพื่อทำให้ผ่านกลางคืนที่เป็นเวลาเศร้าที่สุดไปได้”

สิ่งที่บอยเผชิญทำให้เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดามากที่คนเราจะเป็นโรคซึมเศร้า และคงไม่มีใครสามารถมีภาวะอารมณ์ที่สมบูรณ์แบบเพอร์เฟคไปได้ตลอดชีวิต

“ในเฟซบุ๊กเราเห็นแต่ด้านดีๆ ชีวิตที่ดี อาหารที่ดี รถดี ทุกอย่างดีหมดเลย ผมว่านั่นแหละคือความป่วยของสังคม ที่ต้องโชว์แต่ด้านดีของตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ทุกคนมีปัญหาหมด เราเกิดมาเพื่ออยู่ด้วยกัน ส่วนนี้เราขาด เราอ่อนแอ ก็มีคนที่เข้มแข็งคอยปลอบใจ และเวลาหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้ปลอบใจคนที่ขาดบางอย่างในสิ่งที่เรามี”

 

เปลี่ยนภาพลักษณ์ผู้ป่วยด้วยทัศนคติและคุณภาพในการรักษา

สถานการณ์ผู้ป่วยโรคทางจิตในประเทศไทย หลายหน่วยงานด้านสาธารณะสุขระบุในแนวทางเดียวกันว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดกว่าล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า (Depression) และโรควิตกกังวล

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต บอกว่า อัตราการเจ็บป่วยของโรคจิตเวชมีสัดส่วน 1 เปอร์เซนต์ของประชากรทั่วโลก ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนสัดส่วน แต่อยู่ที่คุณภาพในการเข้าถึงและบำบัดรักษา ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาด้วยกัน

“ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงการรักษาประมาณ 60 เปอร์เซนต์ โรคจิตเภทเข้าถึงประมาณ 70 เปอร์เซนต์ ขณะที่ประเทศเจริญแล้วพุ่งสูงถึง 90 เปอร์เซนต์ ถึงแม้แนวโน้มในบ้านเราจะดีขึ้น แต่ปัญหาใหญ่คือ ลักษณะการเข้าถึงของไทย เป็นการรักษาโดยใช้ยาเป็นหลัก ในขณะที่โรคจิตเวชใช้ยาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องการกระบวนการดูแลทางด้านสังคมและจิตใจให้กับผู้ป่วยและญาติด้วย”

นพ.ยงยุทธ ย้ำว่า เดิมทีปัญหาใหญ่คือการเข้าไม่ถึงบริการ แต่ปัจจุบันปัญหาถูกโฟกัสไปที่คุณภาพการรักษาและปัญหาด้านทัศนคติทางสังคม ซึ่งรวมถึงบรรยากาศแห่งการยอมรับไม่รังเกียจเดียดฉันท์

“ประเทศพัฒนาแล้วพยายามเพิ่มคุณภาพการรักษาและบำบัด เมื่อคุณภาพดีขึ้น ภาพพจน์ของผู้ป่วยก็ดีมากขึ้น คนไข้ที่เดินเคว้งคว้างตามถนนและสร้างความรุนแรงนั้นไม่มี พูดง่ายๆ ว่าเป็นผลลัพธ์ซึ่งกันและกัน

“อีกหนึ่งเรื่องที่มีผลต่อการสร้างภาพลักษณ์คนไข้คือ การพยายามเพิ่มสถานภาพของกลุ่มผู้ป่วยและญาติที่ดีขึ้น เช่น ส่งเสริมให้กลุ่มผู้ป่วยและญาติเข้ามามีบทบาททั้งในการกำหนดนโยบาย การตั้งกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสามารถใช้พื้นที่สาธารณะจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ แนวทางเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยกล้าปรากฎตัวต่อสังคมได้ดีขึ้น”

นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต ทิ้งท้ายว่า การให้โอกาสและสิทธิกับพวกเขามากยิ่งขึ้น จะนำไปสู่การเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีและนำไปสู่การกระตุ้นให้ภาครัฐพัฒนาคุณภาพการบำบัดรักษาต่อไป

*********************************** 

หมายเหตุ – สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ได้เปิดแฟนเพจเฟซบุ๊ก “เพื่อนคนป่วยใจ” เพื่อสร้างการรับรู้แก่สังคมรวมถึงให้คำแนะนำกับผู้ป่วย โดยมีทีมแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์คอยให้ข้อมูลและตอบคำถาม