posttoday

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องกทม. ชะลอขึ้นค่าโดยสารบีทีเอส

31 สิงหาคม 2560

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเร่ง กทม.สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามคำสั่งศาล พร้อมขอให้ทบทวนการขึ้นค่าโดยสาร BTS ใน 1 ตุลาคมนี้

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเร่ง กทม.สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามคำสั่งศาล พร้อมขอให้ทบทวนการขึ้นค่าโดยสาร BTS ใน 1 ตุลาคมนี้

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ออกมาคัดค้านกรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) แจ้งขึ้นค่าโดยสารเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงออกมาเคลื่อนไหวโดยนำข้อมูลเอกสารที่อ้างถึงรายได้และผลกำไรของ BTS ว่ามีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งรายได้จากบริการขนส่ง จากปีก่อน 1,553.5 ล้านบาท เป็น 3,110.3 ล้านบาท ยังไม่รวมรายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาและรายได้อื่นๆ ทาง มพบ.และอีก 2 องค์กร จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครทบทวนการอนุญาตขึ้นราคาค่าโดยสาร BTS ทั้งเสนอให้เร่งจัดสร้างเครื่องอำนวยความสะดวกทุกสถานี

นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 มีการฟ้องร้องไปยังกรุงเทพมหานครเรื่องการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้าบีทีเอสแก่ผู้พิการ ซึ่งตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดตามคดีแดงที่ อ.650/2557 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ตัดสินให้กรุงเทพมหานครและบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ร่วมกันดำเนินการให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทุกสถานีเป็นเวลา 1 ปี นั่นหมายความต้องเสร็จภายใน 24 พฤศจิกายน 2558 แต่ปัจจุบันยังคงไม่แล้วเสร็จตามคำสั่งศาล ผนวกกับที่ BTS มีรายได้ที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจึงไม่มีเหตุที่จะขึ้นราคาค่าโดยสาร

“กรุงเทพมหานครเป็นคนที่จะอนุญาตว่าจะให้ขึ้นราคาได้หรือไม่ ซึ่งบีทีเอสจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบใน 30 วัน เพราะฉะนั้นเราจึงขอให้ทาง กทม.ทบทวน ว่าสมควรแก่การขึ้นราคาแล้วหรือ อีกเรื่องหนึ่งนั่นคือ ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าในประเทศไทยมีราคาแพงที่สุดเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และโตเกียว เวลาประเทศไทยทำสัญญาสัมปทานออกมาประชาชนเสียเปรียบตลอด ซึ่งมีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่คิดค่าโดยสารเป็นสถานี ขณะที่ประเทศอื่นคิดเป็นระยะทาง”

ด้านนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ถึงแม้ทาง BTS จะอ้างสิทธิในสัมปทานที่สามารถขึ้นราคาค่าโดยสารได้ทุกๆ 18 เดือน แต่ต้องมองถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก เพราะสิ่งที่ BTS กำลังทำอยู่นั้นคล้ายกับว่าเป็นการระดมทุนจากประชาชนเพื่อสนับสนุนองค์กรตนเองทั้งๆ ที่ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล

"ทาง กทม. หรือ BTS ดูเหมือนว่าจะไม่เดือดร้อนอะไร ทั้งๆ ที่กำหนดการสร้างเครื่องอำนวยความสะดวกตามคำสั่งศาลทะลุมา เกือบ 3 ปีแล้ว แต่ผลกระทบกับทางเราสูงมาก คือ คนพิการยังออกจากบ้านไม่ได้ เดินทางลำบาก นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงการท่องเที่ยวด้วย และสิ่งที่เราเรียกร้องไม่ใช่เฉพาะแค่คนพิการ ยังรวมถึง คนชรา หญิงตั้งครรภ์ นั่นก็คือประโยชน์ของประชาชนทุกคน มันเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไทย"

ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและอีก 2 องค์กร จะมีการยื่นหนังสือไปยัง กทม. อย่างเป็นทางการในไม่ช้า เพื่อให้ กทม.ทบทวนและเร่งรับผิดชอบสร้างเครื่องอำนวยความสะดวกที่เลยกำหนดของศาล พร้อมวอนขอให้รถไฟฟ้าบีทีเอสชะลอการขึ้นค่าโดยสารออกไปก่อนเพื่อประโยชน์สาธารณะ