posttoday

ยกเครื่องศูนย์ป้องกันน้ำท่วม พยากรณ์แม่นรับมือฝนถล่มกรุง

28 สิงหาคม 2560

ต่อจากนี้การวัดระดับน้ำในคลอง หรือปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจะเร็วและแม่นยำมากขึ้น

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญกับพายุลูกใหญ่โหมกระหน่ำ ซัดเข้าถล่มเมือง สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล ทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองหลวงที่มักเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังทุกครั้งที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก จำเป็นต้องเร่งประเมินสถานการณ์ เตรียมความพร้อมรับมือให้ได้ก่อนเข้าสู่เดือน ก.ย.นี้ ซึ่งข้อมูลจากสถิติฝนในรอบ 26 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าเป็นเดือนที่มีปริมาณฝนสูงที่สุดในรอบปี

พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในช่วงที่ผ่านมาทำให้ กทม.มีข้อมูลและประสบการณ์เพื่อนำมาปรับปรุง ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม.ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักการระบายน้ำ โดยพัฒนาระบบต่างๆ ของศูนย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ให้มีความทันสมัย จัดทำระบบไฟฟ้าสำรอง จัดทำระบบสำรองข้อมูลป้องกันฐานระบบข้อมูลหลักล่ม พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเพื่อประมวลผลสำหรับการแก้ไขหรือวิเคราะห์สถานการณ์อย่างครอบคลุมและรอบด้าน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเป็นเงินจำนวน 195 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้เชื่อมโยงสายเคเบิลใยแก้วเพื่อส่งข้อมูลปริมาณน้ำฝนจาก 131 สถานีสูบน้ำ สถานีตรวจวัดระดับน้ำในคลอง จำนวน 263 สถานี และสถานีวัดอัตราการไหลของน้ำจำนวน 32 สถานี ถือเป็นการส่งข้อมูลอันสำคัญกลับมาที่ศูนย์รายงานสถานการณ์น้ำได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถทราบข้อมูลทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในแต่ละพื้นที่ รวมถึงปริมาณน้ำที่อยู่ในคลอง อัตราการไหลของน้ำ และทราบอีกด้วยว่าปริมาณฝนที่ตกลงมาในขณะนั้นทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นผิวจราจรตรงจุดใดบ้าง ข้อมูลเช่นนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานเข้าพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที

“ผมมั่นใจว่าสามารถรับมือสถานการณ์น้ำได้แน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องระวังตัวแปรที่อาจเป็นปัญหาอาจอุปสรรคได้ เช่น กระแสลม หรือกระแสไฟฟ้าขัดข้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องสูบน้ำและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ กทม.จะเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ดีที่สุด” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ขณะที่ สุทธิมล เกษสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า หัวใจของการปรับปรุงระบบ
พื้นฐานของศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อนำข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาแจ้งไปยังคณะผู้บริหาร ก่อนนำไปตัดสินใจแก้ปัญหาตามสถานการณ์ต่อไป

โดยที่ผ่านมา แม้ว่า กทม.จะมีรูปแบบการแจ้งข้อมูลแต่ละพื้นที่กลับเข้ามาที่สำนักการระบายน้ำตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ติดปัญหาที่ยังไม่มีเครื่องมือวัดระดับน้ำในคลองที่มากเพียงพอ ดังนั้นจึงต้องเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ด้านหนึ่งคือปัญหาระบบสื่อสารมักล่มบ่อยครั้ง ทำให้การสื่อสารถูกตัดขาด ข้อมูลหยุดชะงักไม่หลั่งไหลเข้ามา จึงเปลี่ยนมาใช้สายสื่อสารแบบไฟเบอร์ออฟติกทั้งหมด และให้รองรับเครือข่าย 3จี-4จี ในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด คือ ทันทีที่ไฟฟ้าดับทำให้ระบบล่ม ข้อมูลที่รวบรวมมาตลอดต้องสูญหายไปทันที ส่งผลให้ไม่สามารถนำข้อมูลเก่ามาวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ต่อไปได้แม่นยำ แต่ขณะนี้กำลังปรับปรุงให้เก็บข้อมูลย้อนหลังได้แล้ว ทั้งยังสามารถประมวลข้อมูลต่อไปแม้จะเกิดปัญหาไฟดับขึ้นอีก

“ต่อจากนี้การวัดระดับน้ำในคลอง หรือปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจะเร็วและแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการให้ได้ข้อมูลระดับน้ำในคลองจะต้องส่งเจ้าหน้าที่วิ่งออกไปดูเครื่องวัดตามจุดต่างๆ ต่อจากนี้ข้อมูลทั้งหมดจะแสดงขึ้นที่หน้าจอโทรทัศน์ของศูนย์โดยอัตโนมัติ ทำให้เจ้าหน้าที่เห็นและรายงานข้อมูลไม่ขาดช่วง ถ้าประเมินสถานการณ์ได้รวดเร็ว ก็จะเตรียมพร้อมรับมือได้เร็วเช่นกัน”สุทธิมล กล่าว

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของข้อมูลสำคัญพื้นฐานเพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ อาทิ ข้อมูลการเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา รวมถึงพื้นที่นั้นๆ เป็นที่ราบหรือที่สูง ขนาดท่อมีความสามารถระบายน้ำได้เท่าใด ทั้งหมดนำไปสู่การทำนายอนาคตได้ โดย กทม.ต้องการพัฒนาไปสู่ระบบการพยากรณ์น้ำท่วมที่แม่นยำ ด้วยการทดลองในพื้นที่ย่านถนนสุขุมวิทเป็นแห่งแรก ในอนาคตอีกไม่นานจะบอกได้ล่วงหน้าตั้งแต่เห็นกลุ่มเมฆเคลื่อนตัวเข้ามา จะรู้ได้ทันทีว่าน้ำท่วมหรือไม่ท่วม และต้องเตรียมรับมืออย่างไร ต้องเร่งระบายน้ำรองรับไว้ก่อนหรือไม่ เพราะยิ่งรู้อนาคตได้เร็ว ก็ยิ่งแก้ปัญหาได้เร็วมากขึ้นตามไปด้วย