posttoday

"บิ๊กฉัตร" ปัดกรมชลฯปล่อยน้ำท่วมอยุธยา

25 สิงหาคม 2560

รมว.เกษตรฯแจงน้ำท่วมในอยุธยาไม่ใช่ผลจากการระบายน้ำของกรมชลประทาน แต่มีสาเหตุจากฝนตกหนักในพื้นที่

รมว.เกษตรฯแจงน้ำท่วมในอยุธยาไม่ใช่ผลจากการระบายน้ำของกรมชลประทาน แต่มีสาเหตุจากฝนตกหนักในพื้นที่

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา    ไม่ได้เป็นผลจากการระบายน้ำของกรมชลประทาน แต่สาเหตุมาจากฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น   และเนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำสูงสุข กรมชลฯ ได้ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา  1,000-1,500  ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที  ซึ่งมีการแจ้งเตือนจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อพื้นที้นอกคันกั้นน้ำได้ผลกระทบ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป เมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ (พื้นที่ระหว่างตลิ่งกับคันกั้นน้ำ) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้วอย่างทันที

ทั้งนี้กรมชลประทานยืนยันว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คือ พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งท่วมเป็นปกติ เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งได้ดำเนินการระบายน้ำทั้งฝั่งซ้าย /ฝั่งขวา ควบคู่กับการระบายน้ำทางตรงผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้ระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียว        

“รัฐบาลได้มีความห่วงใยเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยได้มีการวางแผนระยะยาวในการป้องกันน้ำท่วมลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มความสามารถในการระบายน้ำออกฝั่งซ้าย/ฝั่งขวา เพื่อลดปริมาณน้ำที่ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ขยายคลองชัยนาท-ป่าสัก เพิ่มความสามารถระบายน้ำเจ้าพระยาให้มากขึ้น เช่น คลองบางบาล-บางไทร ตลอดทั้งการดูแลพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ อาทิ บางบาล บางโผงเผง เพื่อให้มีความสะดวกในช่วงน้ำท่วม เช่น สะพานทางเดิน ยกระดับบ้านเรือน เป็นต้น”พลเอกฉัตรชัย กล่าว

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของกรมชลประทาน ในช่วงฤดูฝนจะเร่งผลักดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยาในการบริหารจัดการน้ำเหนือ และใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งรับน้ำหรือชะลอน้ำบริเวณเหนือเขื่อนตามศักยภาพที่รับได้ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อย คลองบางบาล คลองโผงเผง ซึ่งอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนมีฝนตกชุกกระจายเกือบเต็มพื้นที่ ตั้งแต่ต้นฤดูฝนกลางเดือนพ.ค. 2560 ต่อเนื่องเป็นช่วงๆ ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม  แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก กรมชลประทาน จึงควบคุมปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในเกณฑ์ไม่เกิน 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ตามที่ได้รายงานสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อนหน้านี้แล้ว

โดยโดยแบ่งรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก แต่เนื่องจากในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีฝนตกชุกเช่นกัน จึงทำให้มีขีดจำกัดในการรับน้ำเข้าระบบชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งพร่องน้ำในระบบชลประทานออกก่อน จากนั้นได้ทยอยเพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก จาก 90 เป็น 170 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่อมาเมื่อระบบชลประทานทางด้านฝั่งตะวันตกปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีนลดลง ได้เพิ่มการรับน้ำเข้าระบบจาก 30 เป็น 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามลำดับ รวมทั้งยังได้ใช้พื้นที่ว่างบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา หน่วงน้ำไว้อีกทางหนึ่ง ด้วยการยกระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจาก +15.40 เป็น + 15.80 เมตร(รทก.) ทำให้สามารถคงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้ไม่เกิน 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะไม่สร้างผลกระทบเพิ่มเติมต่อพื้นที่น้ำท่วมเดิมที่อยู่นอกคันกันน้ำ