posttoday

ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาเสื่อมสภาพขั้นวิกฤต

17 สิงหาคม 2560

พัทยา-ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาเสื่อมสภาพอยู่ในระดับวิกฤตหลังผ่านใช้งานมาตั้งแต่ปี43ไม่เคยได้รับการปรับปรุงแก้ไขเข้าข่ายแหล่งเสื่อมโทรม

พัทยา-ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาเสื่อมสภาพอยู่ในระดับวิกฤตหลังผ่านใช้งานมาตั้งแต่ปี43ไม่เคยได้รับการปรับปรุงแก้ไขเข้าข่ายแหล่งเสื่อมโทรม

เมื่อวันที่17ส.ค.60 ที่โรงแรมกรนด์โซเลย์ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายรัตนชัย สุทธิเดชานัย ประธานที่ปรึกษาสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม โดยเชิญ นายสมภพ วันดี ผู้อำนวยการส่วนจัดการคุณภาพน้ำ สำนักการช่างเมืองพัทยาเข้าร่วมชี้แจงกรณีของการจัดการระบบน้ำเสีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยว กับปัญหาน้ำเน่าเสียที่ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลบริเวณพัทยาใต้ สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

นายสมภพ วันดี ผู้อำนวยการส่วนจัดการคุณภาพน้ำ สำนักการช่างเมืองพัทยา ชี้แจงว่า การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียมูลค่า1,800ล้านบาทเปิดใช้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่เมื่อปี 2543 ผ่านการใช้งานมานานกว่า 17 ปีเศษ ตามแผนแล้วจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบเพื่อรองรับการเติบโตของสังคมเมืองพัทยาแต่ปรากฏว่าปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสีย2 แห่ง ได้แก่ ซอยวัดหนองใหญ่ และซอยวัดบุญกัญจนาราม ยังไม่มีปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อให้รองรับการเติบโตได้ทัน ที่โรงบำบัดนำเสียหลักคือที่ซอยวัดหนองใหญ่ยังคงรองรับน้ำเสียได้เพียงวันละ 6.5 หมื่น ลบ.ม.ขณะที่ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจริงสูงถึงวันละ 8 หมื่นลบ.ม. ส่วนโรงบำบัดน้ำเสียซอยวัดบุญมีความสามารถในการรองรับน้ำเสียได้ 4.3 หมื่น ลบ.ม./วัน แต่มีน้ำเสียเข้าสู่ระบบ 1.2 หมื่น ลบ.ม./วัน

ดังนั้น เมื่อคิดค่าเฉลี่ยในภาพรวมจากทั้ง 2 โรงบำบัดทำให้มีน้ำเสียเกิดขึ้น 1.16 แสน ลบ.ม.แต่โรงบำบัดทั้ง 2 แห่งมีความสามารถในการรอง รับได้เพียง 9.1 หมื่น ลบ.ม./วัน ส่งผลให้คุณภาพของน้ำเสียเริ่มต่ำกว่ามาตรฐาน และอาจเกิดส่งผลกระทบได้ในอนาคต

สำหรับการบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยานั้นในอดีต หลังผ่านระบบแล้วจะมีค่ามาตรฐานของน้ำตามกฎหมายหรือ BOD เพียง 5-6 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น แต่เมื่อมีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบเกินความสามารถในการรองรับ ขณะที่เครื่องจักรที่มีความเสื่อมสภาพลง ซึ่งแม้จะทำการบำบัดน้ำทั้งหมด แต่ก็ทำให้ค่ามาตรฐานของน้ำหรือ BOD ในปัจจุบันเฉลี่ยสูงกว่า 15-16 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือใกล้มาตรฐานที่ภาครัฐกำหนดว่าให้ค่ามาตรฐาน BOD เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตรก่อนปล่อยลงสู่ทะเล จึงถือเป็นเรื่องน่าวิตกพอสมควร

สำหรับปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่ชายหาดพัทยาใต้เป็นเพราะระบบท่อระบายที่รองรับน้ำเสียเป็นการใช้ระบบท่อเดียวกับการรับน้ำฝนและด้วยปัญหาการชำรุดของสถานีสูบน้ำ และเครื่องจักรบางส่วน โดยเฉพาะสถานีสูบบริเวณถนนสายชายหาด จึงทำให้มีน้ำเสียค้างท่อจำนวนมากขึ้น เมื่อผสมกับน้ำฝนช่วงมรสุมที่ไหลมารวมและเอ่อล้นลงสู่ทะเลจึงทำให้น้ำมีลักษณะขุ่นข้นดำ มีกลิ่น และมีเศษสิ่งปฏิกูลออกมาซึ่งในปี 2560นี้เมืองพัทยาได้ดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการปรับปรุงสถานีสูบเพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ขณะที่ในระยะยาวจะมีการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับปัญหาน้ำเสียอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยจะมีการขยายความสามารถในการรองรับน้ำเสียให้ได้ 1.2-1.5 แสน ลบ.ม./วัน ที่โรงบำบัดวัดหนองใหญ่ แต่การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นที่ต้องจัดการรายงานผล กระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ก่อนเสนอโครงการไปยังภาครัฐ ซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณพอสมควร