posttoday

ปภ.เผย8จังหวัดภาคอีสาน-กลางยังมีน้ำท่วมขัง

13 สิงหาคม 2560

ปภ.เผย 8 จังหวัดยังเผชิญน้ำท่วมขัง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน 7 จังหวัด คาดเข้าสู่ภาวะปกติใน 4-5 วัน

ปภ.เผย 8 จังหวัดยังเผชิญน้ำท่วมขัง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน 7 จังหวัด คาดเข้าสู่ภาวะปกติใน 4-5 วัน

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัย หรือน้ำท่วม ว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-13 ส.ค.60 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 44 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 583,448 ครัวเรือน 1,850,403 คน พื้นที่การเกษตร 3,887,604 ไร่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 36 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 8 จังหวัด แยกเป็น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่

1.สกลนคร ปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสกลนคร , กุสุมาลย์ และโคกศรีสุพรรณ รวม 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน 45 ครัวเรือน 137 คน

2.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ , ยางตลาด , ฆ้องชัย , กมลาไสย และร่องคำ รวม 44 ตำบล 448 หมู่บ้าน 14,929 ครัวเรือน 44,787 คน

3.นครพนม ฝนที่ตกหนักและมวลน้ำจากหนองหาร จ.สกลนคร ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ นาแก , เรณูนคร , วังยาง , นาหว้า , ศรีสงคราม , โพนสวรรค์ , ท่าอุเทน , ธาตุพนม , นาทม , ปลาปาก และอำเภอเมืองนครพนม รวม 79 ตำบล 659 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,541 ครัวเรือน 64,857 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 186,663 ไร่

4.ร้อยเอ็ด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 อำเภอ ได้แก่ เสลภูมิ , เชียงขวัญ , จังหาร , โพธิ์ชัย และทุ่งเขาหลวง รวม 10 ตำบล 18 หมู่บ้าน 1,460 ครัวเรือน 4,380 คน

5.ยโสธร ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองยโสธร , คำเขื่อนแก้ว , มหาชนะชัย และค้อวัง รวม 11 ตำบล 31 หมู่บ้าน 320 ครัวเรือน 960 คน

6.อุบลราชธานี ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ใน 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี , วารินชำราบ , ม่วงสามสิบ , ดอนมดแดง , ตระการพืชผล , เดชอุดม , เขื่องใน , นาเยีย และสว่างวีระวงศ์

7.หนองคาย ฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ อ.เฝ้าไร่ รวม 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 267 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,455 ไร่

ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ผลกระทบจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ บางบาล , เสนา , บางปะอิน , ผักไห่ , พระนครศรีอยุธยา และบางไทร รวม 74 ตำบล 377 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,814 ครัวเรือน

อย่างไรก็ตามปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมกำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยให้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติ

นายฉัตรชัย กล่าวว่า จากการติดตามภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า พื้นที่น้ำท่วมในเขตชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลตอนล่าง ใน จ.ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ผ่านจุดวิกฤตน้ำท่วมสูงสุดไปแล้ว โดยระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 4-5 วัน ขณะที่พื้นที่ที่คาดว่าจะมีน้ำท่วมขังต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานส่วนใหญ่จะเป็นนาในที่ลุ่มและแก้มลิงธรรมชาติ สำหรับการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนลำปาวไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่น้ำท่วมแต่อย่างใด แม้สถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลายแล้ว แต่ยังไม่สิ้นสุดฤดูฝน จึงยังคงต้องเฝ้าระวังภาวะฝนตกหนักและสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง