posttoday

ถนนอินทามระ เกียรติไม่ลบเลือน

29 กรกฎาคม 2560

การต่อสู้อย่างยาวนานของทายาทสกุล “อินทามระ” ในการฟ้องร้องกทม.เหตุทำการลบชื่อถนนอินทามระ ตั้งแต่แยกสะพานควายไปจนถึงแยกสุทธิสาร ออกโดยพลการ

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

การต่อสู้อย่างยาวนานของทายาทสกุล “อินทามระ” ในการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากทำการลบชื่อของถนนอินทามระ ตั้งแต่แยกสะพานควายไปจนถึงแยกสุทธิสาร ออกโดยพลการ ทำให้เหลือเพียงป้ายซอยทั้ง 59 ซอยเท่านั้น รวมไปถึงกำหนดให้ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย อย่างเป็นทางการเพียงชื่อเดียว เรื่องนี้นำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลปกครอง ซึ่งใช้เวลามากว่า 10 ปี กระทั่งผู้ฟ้องได้รับชัยชนะในที่สุด
 
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2503 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้อนุญาตให้ตั้งชื่อถนนตัดใหม่ คือ ถนนสุทธิสาร ช่วงแยกสะพานควาย ในที่ดินจัดสรรข้างสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ โดยให้แบ่งเป็นสองตอน คือ ที่ดินตอนหน้าของ “มารุต บุนนาค” บุตรของพระสุทธิสารวินิจฉัย ให้ตั้งชื่อว่า ถนนสุทธิสารวินิจฉัย มีระยะจากถนนพหลโยธิน (สะพานควาย) เข้าไป 500 เมตร ส่วนที่ดินตอนหลังของ “พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ” อดีตหัวหน้ากองคลัง กรมตำรวจ เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้พัฒนาที่ดินให้เป็นโครงการจัดสรรของกรมตำรวจ ย่านสุทธิสาร จากแยกสุทธิสาร-ถนนวิภาวดีรังสิต จนประสบความสำเร็จ อีกทั้งนามสกุล อินทามระ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ตั้งชื่อว่า ถนนอินทามระ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
 
จากนั้นในปี 2547 กทม.เข้ามาทำการปรับปรุงระบบเรียกชื่อถนน ตรอก ซอย เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลเหมือนกันทั้ง 50 เขต พบว่าถนนสายดังกล่าวมีเพียงป้ายชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ไม่มีป้ายชื่อถนนอินทามระ แต่มีซอยอินทามระ 1 ถึงซอยอินทามระ 59 และประชาชนส่วนใหญ่มักคุ้นกับชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยมานาน หากเปลี่ยนแปลงชื่อถนนเป็นอินทามระ จะมีผลกระทบต่อประชาชน
 
อีกทั้งต้องตั้งชื่อถนนสายเดียวกันเป็นสองชื่อซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักสากล ดังนั้นจึงกำหนดชื่อถนนทั้งสาย ตั้งแต่แยกสะพานควาย ถึงซอยลาดพร้าว 64 เป็นชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยทั้งหมด โดยคงไว้แต่ชื่อซอยอินทามระ จากจุดนี้ทำให้ “กฤษฎา อินทามระ” ผู้เป็นทายาทเกรงว่าชื่อวงตระกูลจะถูกลบออกจากข้อเท็จจริงตามประวัติความเป็นมาของทะเบียนประวัติถนน จึงดำเนินการฟ้องร้องขอให้ กทม. กำหนดชื่อถนนให้ถูกต้องอย่างที่ควรเป็น
 
การต่อสู้ดำเนินมาถึงวันที่ 17 ส.ค. 2555 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากพิจารณาปรากฏว่า ที่ดินเป็นของ “จิรายุวัต บุนนาค” ผู้อนุบาล “พระสุทธิสารวินิจฉัย” ชื่อเดิมคือ “มะลิ บุนนาค” ได้ยกให้ทางราชการเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระสุทธิสารวินิจฉัย ส่วนที่ดินด้านในเป็นของกรมตำรวจเดิม ได้ใช้ชื่อสกุลของหัวหน้ากองคลังของกรมตำรวจในสมัยนั้น ส่งผลให้ถนนสายนี้มีชื่อเรียกเป็น 2 ชื่อ แต่หากพิจารณาจากสภาพพื้นที่ในขณะนั้น เชื่อได้ว่า ชื่ออื่นที่ใช้นั้นเป็นเพียงชื่อถนนที่เข้าสู่ที่ดินจัดสรรของกรมตำรวจเท่านั้น ไม่ใช่ถนนสายหลักในปัจจุบัน และในระบบทะเบียนของผู้อำนวยการเขตพญาไทและผู้อำนวยการเขตดินแดง ได้ใช้ชื่อถนนสายนี้ว่าถนนสุทธิสารวินิจฉัยมานานแล้ว ศาลจึงพิจารณาจากประวัติความเป็นมาการได้มาของที่ดินเพื่อสร้างถนน เพื่อเป็นการเชิดชูชื่อเสียง เกียรติยศ เพื่อเป็นอนุสรณ์ความดีงามให้กับเจ้าของที่ดิน
 
ทว่าเมื่อคดีผ่านมาถึงชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินการของ กทม. ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามประวัติทะเบียนถนน พ.ศ. 2503 อีกทั้งไม่เคยประกฏว่า กทม.จัดทำการศึกษารวบรวมข้อมูล สอบถามความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำมาเป็นหลักฐานรับรองว่าประชาชนส่วนใหญ่มักคุ้นกับชื่อใด จึงมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น
 
ทันที่ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ทำให้ผู้ถูกฟ้อง ประกอบด้วย กทม. ผู้ว่าฯกทม. ปลัด กทม. ผอ.เขตพญาไท และ ผอ.เขคดินแดง ต้องดำเนินการเปลี่ยนชื่อถนน และทะเบียนบ้านของประชาชนในพื้นที่ภายใน 180 วันนับจากมีคำตัดสิน
 
ภาณุพงษ์ สุทธิสาร ผอ.สำนักงานปกครองและทะเบียน กทม. เปิดเผยว่า หลังคำพิพากษา กทม.จะพิจารณากำหนดหรือปรับเปลี่ยนชื่อถนนสุทธิสาร เฉพาะในพื้นที่จากแยกสะพานควาย มาจนถึงแยกสุทธิสาร (บริเวณถนนวิภาวดีฯ) ข้ามไปยังถนนสุทธิสารที่ไปบรรจบถนนรัชดาภิเษก ที่คือซอยอินทามระ 59 เท่านั้น ไม่ได้พิจารณาเลยตามถนนสุทธิสารที่ไปสิ้นสุดที่ย่านลาดพร้าวแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ต้องทำหนังสือแจ้งไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เพื่อเดินทางมาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเฉพาะตรงชื่อถนนที่ระบุในบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน และหากมีการปรับเปลี่ยนชื่อถนนข้อมูลต้นฉบับของประชาชนในอนาคต ชื่อถนนจะถูกเปลี่ยนโดยอัตโนมัติทันที
 
ภาณุพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขั้นตอนการกำหนดชื่อถนน ตรอก ซอย แม่น้ำ ลำคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ มีกระบวนการ เริ่มจากสำนักงานเขตในพื้นที่กำหนดชื่อถนน ตรอก ซอย โดยต้องผ่านการสำรวจจากประชาชนว่ามีความสะดวกใช้ชื่อเรียกว่าอะไร หรือมีการอุทิศที่ดิน อุทิศชื่อแด่บุคคลสำคัญเพื่อเป็นเกียรติประวัติวงศ์ตระกูลก็สามารถเสนอชื่อเข้ามาให้ กทม. พิจารณาได้ โดยต้องขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับด้วย