posttoday

ลุ้นพายุเซินกาช่วยเติมน้ำในเขื่อนลำตะคอง

25 กรกฎาคม 2560

นครราชสีมา-ชลประทานโคราชรอลุ้นพายุเซินกาเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองปัจจุบันเหลือความจุเพียง 25.61%

นครราชสีมา-ชลประทานโคราชรอลุ้นพายุเซินกาเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองปัจจุบันเหลือความจุเพียง 25.61%

เมื่อวันที่25ก.ค.60 นายชิตชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักทั้ง 5 แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา มีเพียง 3 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บเกิน 50% ประกอบไปด้วย เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ซึ่งข้อมูลวันนี้ (25 ก.ค. 60) วัดความจุกักเก็บน้ำได้ 88.50 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57.10 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 155 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 57.70 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 58.88 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บ 141.53 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51.47 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 275 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนอีก 2 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำกักเก็บไม่ถึง 50% ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่แค่ 80.55 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 25.61 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนมูลบน มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 68.94 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 48.89 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นสถานการณ์โดยภาพรวมของเขื่อนขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้จึงยังสามารถรับน้ำได้อีกปริมาณมาก

อย่างไรก็ตามสำนักงานชลประทานที่ 8 ก็กำลังจับตาสถานการณ์ของพายุดีเปรสชั่นเซินกา ซึ่งจะเข้ามาในประเทศไทย ช่วงระหว่างวันที่ 25-29 กรกฎาคมนี้ หากโชคดีก็จะมีฝนตกลงมาเติมน้ำได้เกิน 50% ทุกเขื่อน โดยชลประทานตั้งเป้าไว้ว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้ เขื่อนทั้งหมด จะมีปริมาณน้ำไม่ต่ำกว่า 70% ช่วงนี้จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ โดยแบ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน สำหรับบริเวณเหนือเขื่อน จะพยายามกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพของเขื่อน และระบายน้ำให้น้อยที่สุดตามความจำเป็น ส่วนบริเวณท้ายเขื่อน จะเน้นการพึ่งพาตนเอง เก็บให้มีการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระน้ำ หนอง บึง และแก้มลิง เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกจะเน้นให้ใช้น้ำฝนที่ตกลงมาเป็นหลัก เพื่อไม่ให้กระทบกับน้ำต้นทุนในเขื่อนสำหรับใช้อุปโภคบริโภคฤดูแล้งปีหน้า.